แม้ว่ามาตรการป้องกันกรณีใช้ทรัพย์สินของทางราชการลงวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ว่าด้วยการชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ในสถานที่ราชการ ส่งถึงข้าราชการฝ่ายต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุขยกเลิกไปอย่างรวดเร็วเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561 แต่ก็เป็นประเด็นที่ยังน่าคิดและติดตาม

ไม่เฉพาะเรื่องมาเร็วไปเร็ว แต่ยังสะท้อนถึงการออกระเบียบปฏิบัติทางราชการ ไปจนถึงการออกกฎหมายบังคับใช้ที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการพิทักษ์ผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน

รวมถึงการออกคำสั่งจากบนลงล่าง ที่ส่วนใหญ่มิได้ผ่านขั้นตอนการศึกษา หรือการพูดคุยรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านระหว่างผู้ออกกฎกับผู้ถูกบังคับ ให้ปฏิบัติตามกฎ

ความมุ่งหมายให้ข้าราชการหลีกเลี่ยงการ ใช้ทรัพย์สินของหลวงในเรื่องส่วนตัว มี รายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละเรื่อง เช่นกรณีชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ดังกล่าว มีนักวิชาการแสดงผลการคำนวณเป็นค่าไฟฟ้าที่น้อยมาก

การออกมาตรการบังคับจึงอาจดูเป็นเรื่องใหญ่เกินไปและก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เช่นเดียวกับการออกกฎหมายเพื่อควบคุมและจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ยังคงมีปัญหาในการปฏิบัติ และต้องขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวออกไปอีกเป็นวันที่ 30 มิ.ย.2561 หลังจากเคยขยายมาแล้วจากปี 2560

เพราะยังเหลือแรงงานต่างด้าวที่รอการพิสูจน์สัญชาติอยู่ถึง 900,000 คน เป็นจำนวนที่สูงมากและน่าจะคาดการณ์ได้แต่แรก

อย่างไรก็ตามก็ยังมีการออกกฎมาก่อน จนสะท้อนว่าไม่ได้ศึกษาผลกระทบให้แน่ชัด

การบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้ที่ทำให้เกิดความขลุกขลักอยู่เสมอ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับการบริหารงานส่วนกลางเท่านั้น ยังรวมไปถึงในภูมิภาคและชุมชนต่างๆ

หลายครั้งส่วนกลางไม่ได้รับฟังเสียงหรือสำรวจวิจัยสถานการณ์ในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ให้แน่ชัด

เพราะกฎระเบียบที่เหมาะสมกับพื้นที่หนึ่ง อาจไม่เหมาะสมกับพื้นที่ สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมอื่นๆ

จึงเป็นที่มาของคำอธิบายว่าเหตุใดระบอบประชาธิปไตยและการกระจาย อำนาจนั้นสำคัญ และมีประสิทธิภาพ กว่าการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากบนลงล่าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน