การมีภาพถ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปรากฏอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษนั้นไม่ทำให้ผู้คนประหลาดใจนัก เพราะนับจากที่ผู้นำหญิงคนแรกของประเทศไม่มารับฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าวเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 มีการคาดคะเนว่าอังกฤษอาจเป็นประเทศหนึ่งที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปพำนักอยู่

การตามหาตัวของเจ้าหน้าที่รัฐบาลเป็นที่คาดคะเนเช่นกันว่าจะดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

เพียงแต่รัฐบาลเองก็ยอมรับว่าการคาดหวังผลว่าจะได้รับการส่งตัวจากต่างประเทศนั้นไม่มีมากนัก

เพราะอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในคดีที่เกิดขึ้นก่อนก็เป็นเช่นเดียวกันนี้ คือขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศไทย

การส่งตัวบุคคลต้องโทษทางคดีมาจากต่างประเทศเป็นเรื่องที่มีหลักพิจารณาของแต่ละประเทศเอง และการสร้างแรงกดดันทำได้ยาก เนื่องจากต้องคำนึงถึงกฎหมายและอธิปไตยของประเทศนั้นๆ รวมถึงผลกระทบทางการทูต

กรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้รับข้อมูลจากรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ที่กรุงลอนดอน

หลังจากกระทรวงการต่างประเทศเพิกถอน พาสปอร์ตทุกฉบับของน.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว จึงประเมิน ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์อาจถือพาสปอร์ตของชาติอื่น

ทั้งนี้ ไม่ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะถือพาสปอร์ตสัญชาติอะไร หรือใช้วีซ่าเข้าสหราชอาณาจักรในฐานะนักลงทุนหรือประเภทอื่นใด การตัดสินใจ ดำเนินการต่างๆ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลอังกฤษ

สิ่งที่รัฐบาลไทยทำได้คือรักษาความสัมพันธ์กับอังกฤษให้เป็นปกติ

สําหรับภารกิจในการติดตามตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งแจ้งว่าอยู่ระหว่างการประสานกับตำรวจสากลเพื่อออกหมายจับหรือหมายแดง

เบื้องต้นนี้อินเตอร์โพลยังไม่สามารถออกหมายจับได้ โดยให้เหตุผลว่า หลักฐานที่ทางการไทยส่งให้ยังไม่ครบถ้วน จึงจำเป็นต้องส่งหลักฐานเพิ่มเติมให้พิจารณา เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ซึ่งสุดท้ายแล้วเป็นองค์กรต่างประเทศที่ต้องตัดสินใจ

แต่ข้อสังเกตทั้งจากกรณีของอดีต นายกฯ นามสกุลชินวัตร ทั้งสองท่านก็คือหากพิจารณาในมุมมองของประเด็นการเมืองแล้ว การส่งตัวบุคคลทั้งสองกลับ นั้นเป็นเรื่องยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน