การประกาศตัวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 50 คน ว่าจะยืนหยัดเคียงข้างกับพรรคเพื่อไทย ไม่ย้ายพรรคไปไหนในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ด้านหนึ่งก็ทำให้ภาพการเมืองเกิดความชัดเจนขึ้น ในทำนองเดียวกันกับที่พรรคประชาธิปัตย์เริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และแสดงท่าทีว่าจะไม่ร่วมหรือรวมกับพรรคที่ให้การสนับสนุน “กองทัพ” ภายหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป

เป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องมีความแตกต่างหลากหลาย

และการแสดงออกอย่างเปิดเผยถึงจุดยืน-ความเชื่อของแต่ละพรรคหรือแต่ละฝ่าย

ก็มีส่วนช่วยให้ประชาชนตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านใคร

แต่ลำพังเพียงการประกาศจุดยืนหรือแสดงท่าทีว่าจะไม่สังฆกรรมกับพรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุนตัวแทนกองทัพเท่านั้นยังไม่พอ

ไม่ว่าเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ หรือพรรคการเมืองอื่นๆ รวมไปถึงพรรคที่ประกาศตัวว่าจะสนับสนุนอดีตผู้นำจากกองทัพ ต้องนำเสนอ “สาระ” หรือแก่นของนโยบายให้ประชาชนพิจารณาด้วย

ว่าพรรคมีจุดยืนอย่างไรในทางการเมือง จะยืนอยู่ในซีกประชาธิปไตย จะสนับสนุนสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน หรือจะเอนเอียงไปในทางที่ให้อภิสิทธิ์กับคนบางกลุ่มบางพวก

เนื้อหาที่แสดงออกนั้นจะช่วยพิสูจน์หรือย้ำจุดยืนได้อีกแรงหนึ่ง

เช่นเดียวกันกับการประกาศเนื้อหาหรือนโยบายในด้านเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนส่วนใหญ่

ว่าพรรคจะนำเสนอแนวทางอย่างไรที่จะ ผลักดันการเจริญเติบโต รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำทั้งในทางโอกาสและรายได้

เพราะการต่อสู้กันด้วยนโยบายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะมอบความไว้วางใจให้ใครหรือพรรคไหนได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

แต่ยังเป็น “สัญญาประชาคม” ให้แต่ละพรรคนำไปปฏิบัติตามคำสัญญาภายหลังจากการเลือกตั้งแล้วด้วย

ไม่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะอยู่ในฐานะรัฐบาลหรืออยู่ในฐานะฝ่ายค้านก็ตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน