ดีเดย์วันที่ 21 ก.พ.นี้ เป็นกำหนดเวลากองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรจะเริ่มขับเคลื่อนหรือคิกออฟโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาล

ระบุรายละเอียดการแบ่งพื้นที่ออกเป็นระดับตำบล มีจำนวน 7,663 ทีม ทีมละ 7-12 คน

ประกอบด้วย 878 อำเภอใน 76 จังหวัด และอีก 50 เขตในกรุงเทพฯ

ลงพื้นที่เข้าถึงหมู่บ้าน-ชุมชน 83,151 แห่ง ใช้เวลา 3 เดือน

กล่าวได้ว่าเป็นการกระจายกำลังข้าราชการครั้งใหญ่โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักและใช้งบประมาณราวสองพันล้านบาท

ก่อนเริ่มคิกออฟ กระทรวงมหาดไทยแถลงยืนยันว่าจะใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส การดำเนินการจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์และระเบียบของกระทรวงการคลัง

ส่วนกอ.รมน.ยืนยันโครงการดังกล่าวจะไม่สูญเปล่า ทุกอย่างได้ประโยชน์ และเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ตรวจสอบและประเมินผลงานโครงการนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นฝ่ายใด และจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดกรณีซ้ำรอยการทุจริตในโครงการของรัฐ

ในส่วนของการเข้าถึงประชาชน จะทำอย่างไรให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างมีเสรี ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกดำเนินคดีเหมือนกับกลุ่มนักศึกษาและภาคประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตาม กำหนดเดิม

หลังภาคราชการเน้นย้ำให้ระวังการบิดเบือนและกล่าวหาโครงการไทยนิยมยั่งยืนในทางลบ

โครงการดังกล่าวนี้ยังกำหนดให้นำชุดความรู้ 10 ชุด ได้แก่ สัญญาประชาคมถูกใจไทยเป็นหนึ่ง, คนไทยไม่ทิ้งกัน, ชุมชนอยู่ดีมีสุข, วิถีไทยวิถีพอเพียง, รู้สิทธิรู้หน้าที่รู้กฎหมาย, รู้กลไกการบริหารราชการ, รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม, รู้เท่าทันเทคโนโลยี, ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด และเผยแพร่งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน

วิธีการดังกล่าวดูเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริงอย่างไร จะสำรวจความต้องการของประชาชนให้ครอบคลุมมานำเสนอเป็นแผนงานโครงการในการพัฒนาพื้นที่อย่างไร

โดยเฉพาะหัวข้อประชาธิปไตยไทยนิยมที่กำหนดโดยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน ก็เป็นเรื่องยากที่จะคิกออฟแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน