แม้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา จะผ่านลงมติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างเป็นเอกฉันท์ ไปแล้ว

อันเป็นการลงมติครั้งที่ 2 หลังจากตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เนื่องจากทั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้งมีความเห็นแย้งกับมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ก่อนหน้านี้ คาดการณ์กันว่าจะมีสมาชิกสนช. ร่วมกันลงชื่อ ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ปรากฏว่าไม่มี

นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตต่างๆ นานา

ล่าสุด ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่าจะทำความเห็นต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถึงข้อกังวลร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่ห้ามคนไม่ไปเลือกตั้งเป็นข้าราชการการเมือง เป็นการตัดสิทธิหรือเสรีภาพหรือไม่

รวมถึงการให้เจ้าหน้าที่ช่วยผู้พิการลงคะแนนเสียงโดยให้ถือว่าเป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับนั้น ขัดกับหลักการในรัฐธรรมนูญหรือไม่

นอกจากนี้ ในพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ที่แยกผู้สมัครเป็น 2 ประเภท แบบอิสระและองค์กร แต่ในรัฐธรรมนูญบอกให้เลือกกันภายในกลุ่มจะมีปัญหาในทางปฏิบัติและความสุจริตหรือไม่

ถือเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ

ความจริงแล้ว ข้อกังวลลักษณะเดียวกันนี้ ก็เคยเกิดขึ้นกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติมาแล้ว ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ร่างกฎหมายยังไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ลงพระปรมาภิไธย ผู้ที่มีอำนาจยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ได้แก่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าชื่อกัน กับนายกรัฐมนตรียื่นร้องเอง

เพื่อให้กฎหมายที่จะบังคับใช้ในเรื่องสำคัญ อีกทั้งเป็นกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เป็นปัญหาและเกิดอุปสรรคในอนาคต จึงสมควรที่ผู้เกี่ยวข้องจะทำให้เกิดความกระจ่าง

ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นสถานีสุดท้ายที่จะให้คำตอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน