ถ้อยคำในหนังสือราชการเชิญประชุมเพื่อต้อนรับนายกรัฐมนตรีในต่างจังหวัดที่แชร์อยู่ในโลกออนไลน์นั้นเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เพราะชื่อของภารกิจ “ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่” ที่มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกันดำเนินการ นั้นกระทบจิตใจ ผู้คนไม่น้อย

กระทั่งต่อมาหนังสืออีกฉบับหนึ่ง เปลี่ยนถ้อยคำภารกิจใหม่ว่า “ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้ความเท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง”

หลังพิจารณาว่าถ้อยคำแรกไม่เหมาะสมทำให้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญ

แม้ว่าถ้อยคำ “ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่” อาจไม่ใช่สาระสำคัญของภารกิจดังกล่าว แต่ก็สะท้อนถึงทัศนคติไปจนถึงอคติที่ฝ่ายราชการมีต่อประชาชนอยู่บ้าง

โดยเฉพาะจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2557 ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งรุนแรง ในสังคมนั้นส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติและอคติ ดังกล่าวของผู้เข้าใจตนผิดว่า ฉลาดกว่าและมีความ ดีกว่า

จึงเป็นเหตุให้เกิดกระบวนการจัดแจง กำกับ คิดแทน และตัดสินใจแทนประชาชนไปทุกเรื่อง ไม่ว่า การเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม

แทนที่จะเป็นแนวทางการนำเสนอนโยบายเพื่อให้ประชาชนเป็นฝ่ายเลือก กลับสรุปเอาด้วยความคิดฝังลึกที่ว่าประชาชนยังไม่หายโง่ หรือยังไม่เท่าทัน

สําหรับภารกิจในชื่อใหม่ว่า “ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้ความเท่าทันโลกที่เปลี่ยน แปลง” แม้ว่าเป็นถ้อยคำที่ดีขึ้น แต่ยังคงสะท้อนถึงเจตนาของการมุ่งถ่ายทอดวัตถุประสงค์ของราชการเป็นหลัก มากกว่าจะให้ประชาชนเรียนรู้แลกเปลี่ยนความรู้ด้วยตนเอง

อาจเพราะระบบการคิดเดิมที่แท้จริงแล้วไม่ ปรับตัวให้เข้าใจประชาชนในท้องถิ่น และคิดอยู่เสมอว่า ประชาชนยังไม่พร้อมสำหรับระบอบประชาธิปไตย

ในระดับประเทศจึงมีการจัดแจงออกกฎหมายโดยคณะบุคคลที่ไม่เกี่ยวโยงกับประชาชน แต่คิดแทนประชาชนในเรื่องการเมืองทุกด้าน ไม่ว่า ระบบการเลือกตั้งต่างๆ หรือวิธีเลือกผู้แทนสู่สภา

บ่งบอกว่าแท้จริงแล้วฝ่ายที่รู้ไม่เท่าทันนั้นไม่ใช่ประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน