บทบรรณาธิการ

การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นรวม 6 ฉบับโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา มีรายละเอียดมากมายที่ทำให้เชื่อได้ว่าจะทำให้การ ตั้งต้นเลือกตั้งท้องถิ่นล่าช้าออกไปจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าอาจมีในเดือนสิงหาคมปีนี้

เฉพาะในส่วนความเกี่ยวข้องของรัฐบาล มีอำนาจที่จะพิจารณาอะไรเพิ่มเติมได้อีก เพราะถือว่าเป็นฝ่ายลงนามออกกฎหมาย

หากมีข้อกฎหมายใดที่ไม่ตรงใจ จึงปรับปรุงหรือแก้ไขได้อีกผ่านการพูดคุยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ประเด็นที่น่าวิตกคือหากรัฐบาลต้องการแก้ไขกฎหมายไม่ให้ประชาชนเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นได้โดยตรง จะมีใครทักท้วงรัฐบาลได้หรือไม่

ในเมื่อรัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากการ เลือกตั้ง

หากกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นจะล่าช้าออกไปย่อมเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างหนึ่ง ว่าจะมีผลกระทบไปถึงการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศที่ยังไม่มีความแน่นอนด้วย

แต่หากข้อกฎหมายยกเลิกการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนยิ่งเพิ่มความน่าวิตกขึ้น ไปอีก

เพราะหมายถึงการย้อนยุคกลับไปใช้วิธีเดิมก่อนรัฐธรรมนูญปีพ.ศ.2540 คือให้สมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นผู้เลือกผู้บริหารท้องถิ่น

พัฒนาการด้านประชาธิปไตยที่เคยเดินหน้าให้ประชาชนมีส่วนร่วมทาง การเมือง นอกจากจะหยุดชะงักอยู่ในช่วงเวลานี้มาเกือบ 4 ปีก็จะถอยหลังกลับไปอย่างน่าวิตก

แม้ว่าวิธีการให้ประชาชนเลือกผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงจะมีจุดอ่อนหรือไม่อย่างไร แต่อย่างน้อยคือการให้สิทธิประชาชนมีส่วนร่วมเรียนรู้และตัดสินใจด้วยตนเอง อีกทั้งตรวจสอบการทำงานของบุคคลที่เลือกมาเอง ย่อมดีกว่าปล่อยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกกำกับจนอ่อนแอ

การเปิดโอกาสให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด บริหารงานขานรับความต้องการของประชาชน จะช่วยปูทางไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในอนาคตได้

หากราชการมีใจเป็นประชาธิปไตย ต้องยอมให้อำนาจที่เคยคุมอยู่ที่ส่วนกลางกระจายไปสู่ท้องถิ่นให้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน