นับตั้งแต่เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อปี 2557 ปัญหาเดิมๆ ประการหนึ่งที่ คสช. และรัฐบาลชุดปัจจุบันประสบมาตลอด ก็คือการบริหารและจัดวางตัวบุคคลในภาคราชการ เพื่อที่จะตอบสนองการแปรนโยบายให้ไปสู่การปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จ

เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับ 11 เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดที่มีอยู่ตั้งแต่วันแรกที่เข้ายึดอำนาจ

จนกระทั่งย่างเข้าปีที่ 4 อันเป็นช่วงเวลาที่ตัวบุคคลทั้งหมด คือคนที่รัฐบาลและคสช. แต่งตั้งขึ้นมาเองกับมือ

ปัญหาเดิมๆ ก็ยังคงดำรงอยู่ และมีแนวโน้มจะขยายตัวรุนแรงยิ่งขึ้น

ดูได้จากกรณีล่าสุดเมื่อรัฐบาลตัดสินใจปรับย้ายเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปเป็นปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

แล้วย้ายสลับปลัดกระทรวงการคลังมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแทน

ผลที่ตามมาก็คือปลัดกระทรวงการคลังยื่นใบลาออกจากตำแหน่งในเย็นวันเดียวกันกับที่คณะรัฐมนตรีมีมติโยกย้าย

กรณีดังกล่าว ในมุมหนึ่งอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก เป็นประเด็นส่วนตัวของผู้ได้รับผล กระทบก็ได้

แต่ก็สามารถมองได้ว่านี่คือปัญหา “การจัดการ” ของรัฐบาล ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ได้

เมื่อเข้ามายึดอำนาจการปกครองโดยการใช้กำลังนั้น รัฐบาลและคสช. เสียแต้มต่อในการระดมทรัพยากรและกำลังคนเข้ามาช่วยงานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะจากภาควิชาการ ภาคประชาชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือภาคการเมือง

ฉะนั้น ภาคที่ถูกใช้งานและเป็นแขนขาให้รัฐบาลปัจจุบันมากที่สุดก็คือภาคราชการ

แต่ความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้น ความไม่ลงตัวในการจัดสรรตำแหน่งและตัวบุคคลให้เหมาะสมกับงาน ก็ปรากฏขึ้นเป็นระยะตั้งแต่วันแรกของการรับตำแหน่งจนกระทั่งปัจจุบัน

และมีแนวโน้มว่าปัญหานี้จะทวีมากขึ้น เมื่อผู้รับคำสั่งประเมินสถานการณ์ว่า

ผู้ออกคำสั่งกำลังจะพ้นจากอำนาจไปในไม่ช้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน