เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ดันลูกบ้านขายโซลาร์ภาคประชาชน นำร่อง 164 ราย 394 กิโลวัตต์

ดันลูกบ้านขายโซลาร์ภาคประชาชน – น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ผู้พัฒนาโครงการหมู่บ้านใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) เต็มรูปแบบรายแรกของไทย เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมยื่นขอสิทธิ์ให้ลูกบ้านทุกหลังใน 6 โครงการ จำนวนกว่า 164 ราย คิดเป็น 394.40 กิโลวัตต์ ประกอบด้วย โครงการ เสนาพาร์ค แกรนด์ รามอินทรา, โครงการเสนาพาร์ควิลล์ รามอินทรา-วงแหวน, โครงการเสนาวิลล์ บรมราชชนนี สาย 5, โครงการเสนาแกรนด์ โฮม รังสิต ติวานนท์, โครงการเสนาช็อปเฮ้าส์ พหลโยธิน คูคต และโครงการ เสนาช็อปเฮ้าส์ บางแค เฟส 1 และ เฟส 2

เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

“เสนาจะเป็นผู้ยื่นขอสิทธิ์ให้ลูกบ้านแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้กับลูกบ้าน ภายใต้การดำเนินงานติดตั้งโดยบริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด ที่ให้บริการแบบครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้บ้านทุกหลัง รวม 400 หลัง ประมาณ 1,000 กิโลวัตต์ จากการที่บริษัทนำร่องโครงการโซลาร์รูฟเสรีตั้งแต่ปี 2559 ที่ยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมติดตั้ง แต่ยังไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ จนมาวันนี้มีโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่รัฐกำหนดไว้ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2018) เปิดรับซื้อ 10 ปีแรก (2562-2571) ปีละ 100 เมกะวัตต์ ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบ 1.68 บาทต่อหน่วย ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความคุ้มค่าในการติดตั้งมากขึ้น”น.ส.เกษรากล่าว

โดยเฉพาะกลุ่มคนสูงวัยและเด็ก กลุ่มคนที่ทำงานอิสระหรือฟรีแลนซ์ ที่มีความคุ้มค่าในการติดตั้งแผงโซลาร์ที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ ช่วยประหยัดค่าไฟ ส่วนกลุ่มพนักงานประจำ (หยุดวันเสาร์-อาทิตย์) เป็นกลุ่มที่คุ้มค่าในการขายไฟฟ้าให้กับรัฐ เนื่องจากกลุ่มนี้ไม่ได้ใช้ไฟช่วงกลางวันในวันธรรมดา แต่เมื่อมีโซลาร์ภาคประชาชนที่รับซื้อไฟส่วนเกินเข้าระบบกลุ่มนี้จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด

น.ส.เกษรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้บริษัทวางแผนและตั้งเป้ายอดขายธุรกิจโซลาร์ไว้ที่ 600 ล้านบาท กำลังการติดตั้งรวม 24 เมกะวัตต์ โดยจะขยายตลาดในกลุ่มผู้ประกอบการ อาทิ โรงงาน คลังสินค้า จำนวน 13 แห่ง ในรูปแบบของการจำหน่ายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ประกอบการ (Private PPA) เป็นการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาและจำหน่ายไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน ให้ผู้ประกอบการโดยตรง เพราะเป็นช่วงที่การจำหน่ายไฟฟ้ามีราคาสูง ทำให้ต้นทุนการใช้พลังงานลดต่ำลง เนื่องจากค่าไฟที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์จะมีราคาที่ต่ำกว่าราคาไฟฟ้าที่ซื้อจากระบบของการไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน โดยรัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะมาตรการอสังหาริมทรัพย์น่าจะลดค่าจดทะเบียนการโอน และลดค่าจดจำนองเหลือ 0.01% ในสัดส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่คนซื้อมาก เช่น ระดับที่ 2-3 ล้านบาท หรือ 3-5 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนถึง 60% ของอสังหาริมทรัพย์โดยรวม จากที่ผ่านมารัฐออกมาตรการนี้เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ถือว่ามีเพียง 10% ของตลาดรวมเท่านั้น จึงไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก และหากรัฐบาลใหม่เพิ่มราคาการซื้อไฟฟ้าส่วนเกินโซลาร์ภาคประชาชนหรือขยายเวลาเพิ่มจาก 10 ปี คาดว่าจะมีคนสนใจเข้าโครงการมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน