เชื่อกันว่าถ้าพูดถึงตลาดรถบรรทุกนำเข้าในไทย ผู้อ่านต้องคิดถึงรถบรรทุกสัญชาติญี่ปุ่นมาก่อนอันดับแรก ซึ่งก็ไม่ผิดนัก มีข้อมูลระบุว่ารถบรรทุกจากประเทศเอเชียอย่างญี่ปุ่นกินส่วนแบ่งในตลาดของไทยถึง 95% อีก 5% เป็นนำเข้าจากตะวันตก

ตัวเลข 5% นี้อาจจะฟังดูน้อย แต่ไม่ได้ถูกมองข้ามจาก “MAN” หรือ “เอ็ม เอ เอ็น” บริษัทรถบรรทุกจากเยอรมนีและรถบัสชื่อดังจากเยอรมนี หนึ่งในผู้เล่นสำคัญของตลาดรถบรรทุกระดับโลก ซึ่งวันนี้ได้ปรับโฟกัสมาที่ไทยอย่างเต็มตัวก็ว่าได้

โดยล่าสุด ทางตัวแทนบริษัท “เอ็ม เอ เอ็น” ได้ยกทีมมาตั้งศูนย์การขายที่ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะ พร้อมใช้เทคโนโลยีระดับชั้นนำชิงส่วนแบ่งพื้นที่ตลาดควบคู่ไปกับการขยายตัวแทนจำหน่ายและศูนย์บริการหลังการขายอันเป็นไปตามมาตรฐานครอบคลุมทั่วประเทศ

ไม่นานมานี้ “ข่าวสด ยานยนต์” ได้มีโอกาสพบกับคุณจักรพงษ์ ศานติรัตน์ ผู้อำนวยการเอ็ม เอ เอ็น ทรัค แอนด์ บัส ประเทศไทย จึงได้ขอสัมภาษณ์และได้ความมาว่า เอเชีย รวมถึงไทยด้วย ถือเป็นตลาดที่กำลังขยายตัว (emerging market) อย่างรวดเร็ว จึงไม่แปลกที่บริษัทนำเอาสินค้าพรีเมี่ยมมาตีตลาด

จักรพงษ์ ศานติรัตน์ ผู้อำนวยการเอ็ม เอ เอ็น ทรัค แอนด์ บัส ประเทศไทย

ความพิเศษของเอ็ม เอ เอ็น ในสายตาจักรพงษ์คือ “คุณภาพ” เพราะเทคโนโลยีของวิศวกรเยอรมัน เป็นที่รู้จักและยอมรับจากคนทั่วโลก แน่นอนว่าความปลอดภัย การประหยัดน้ำมัน และการคงทนสภาพ จึงสามารถแข่งขันกับแบรนด์จากประเทศอื่นๆได้สบาย

แม้แต่การนำเข้ารถบรรทุกและรถบัสของเอ็ม เอ เอ็น ก็มีความพิเศษในตัวเอง คือใช้วิธีประกอบที่เยอรมนีทั้งหมด ดังนั้นสินค้าทุกชิ้นของเอ็ม เอ เอ็น จึงใช้วัสดุเยอรมัน และฝีมือวิศวกรเยอรมัน 100%

จักรพงษ์ระบุว่าคนไทยในวงการโลจิสติกส์ส่วนใหญ่อาจจะใช้รถบรรทุกสัญชาติเอเชียจริง แต่ความนิยมรถบรรทุกสัญชาติยุโรปก็มาแรงไม่แพ้กัน








Advertisement

“บางครั้งมีการส่งต่อรุ่นสู่รุ่นไงครับ คนรุ่นเก่าอาจจะเคยใช้แต่เอเชีย แต่พอเป็นคนรุ่นใหม่มารับช่วงกิจการ ก็เปลี่ยนมาใช้ของยุโรป เพราะมองเห็นความสำคัญด้านความปลอดภัยและประหยัดพลังงาน” จักรพงษ์กล่าว

ด้านคุณคริสเตียน ชุฟ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและผลิตภัณฑ์ชาวเยอรมัน เท้าความว่าบริษัทเอ็ม เอ เอ็น มีความเป็นมายาวนานถึง 260 ปี โดยเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเครื่องยนตร์ที่ประดิษฐ์โดยวิศวกรนามว่า “รูดอล์ฟ ดีเซล” ที่เมืองเอาท์บวก ประเทศเยอรมนี ต่อมาเครื่องยนตร์นี้กลายเป็นที่นิยมทั่วโลก และได้ตั้งชื่อตามผู้ประดิษฐ์ คือ “ดีเซล” นั่นเอง

ชื่อบริษัท “เอ็ม เอ เอ็น” ก็ยังคงคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้ไว้ เพราะมีชื่อเต็มว่า “บริษัทผลิตเครื่องยนตร์ร่วมระหว่าง เอาท์บวร์ก กับ นอยบวร์ก” ซึ่งเป็นอีกเมืองที่มีชื่อด้านวิศวกรรม

คุณคริสเตียนกล่าวว่าปัจจุบันศูนย์กลางใหญ่ของเอ็ม เอ เอ็น อยู่ที่นครมิวนิก ทางตอนใต้ของเยอรมนี แต่บริษัทยังคงความ “เก๋า” ด้านวิศวกรรมไว้ไม่เสื่อมคลายแม้เวลาจะผ่านไปถึงสองศตวรรษ

“เวลาประกอบหรือ input ต่างๆ ก็มาจากมิวนิคทั้งหมด” คริสเตียนระบุ “เป็นส่วนประกอบเยอรมันล้วนๆ”

เอ็ม เอ เอ็น มีขอบข่ายผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมตั้งแต่รถตู้ขนาด 3.0 – 5.5 ตัน ไปจนถึงรถบรรทุกขนาด 7.49 – 44 ตัน และรถบรรทุกหนักเพื่อใช้งานในวัตถุประสงค์เฉพาะ

รถบรรทุกเอ็ม เอ็น และโรงงานประกอบที่นครมิวนิก ประเทศเยอรมนี

บางรุ่นสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้สูงถึง 250 ตัน

นอกจากนี้ เอ็ม เอ เอ็น ยังมีรถบัสโดยสารที่วิ่งในเมือง รถบัสโดยสารระหว่างเมือง (แบบที่คนไทยเรียกกันว่า “รถทัวร์”) และรถโค้ชระดับหรูอีกด้วย

สำหรับในประเทศไทย เอ็ม เอ เอ็น มุ่งเน้นโฟกัสผู้ใช้งานที่วิ่งระยะไกลและต้องการหารถหรือเครื่องยนตร์ที่ อึด ทน ประหยัดน้ำมัน สาเหตุก็เพราะคุณจักรพงษ์และคุณคริสเตียนอธิบายว่า เรื่องแบบนี้ ต้องใช้นานๆ ถึงจะสังเกตเห็นได้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าสถานการณ์การระบาดของ “โควิด-19” กระทบกับวงการโลจิสติกส์และอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคุณจักรพงษ์ให้ข้อมูลว่ายอดสั่งซื้อในวงการรถบรรทุกและรถบัสของตลาโดยรวมลดลงทั้งคู่ในปีนี้ บางส่วนลดลงไปถึง 62% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

แต่ทั้งสองผู้บริหารเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นตามลำดับในปี 2564 ทั้งนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการวิจัยวัคซีนและนโยบายต่างๆของภาครัฐนั่นเอง คุณจักรพงษ์กล่าวว่าบริษัทแม่ที่เยอรมนีก็เข้าใจสถานการณ์อย่างดี

“เราไม่เคยเจอความท้าทายเช่นนี้มาก่อน แต่เราก็ต้องเดินหน้าสู้กับมันต่อไป” คุณคริสเตียนกล่าว “แต่ถ้ามองในมุมทางบวก ผมคิดว่าวิกฤตินี้ทำให้เราได้หันมามองและพอใจกับเรื่องเล็กน้อยๆ ตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นเราก็รู้สึกดีใจมากแล้วครับ”

ผู้ที่สนใจบริการและข้อมูลของเอ็ม เอ เอ็น สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.mantruckandbus.com

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน