พลันที่เห็นภาพ “นายสุวิทย์” อยู่ในชุดของฆราวาส หลายคนนึกถึงสถานการณ์ที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกลอบสังหารกลางเมือง

ภายหลังสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น นายสนธิ ลิ้มทองกุล ในฐานะแกนนำคนสำคัญ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” มีบทบาทเป็นอย่างสูง

เป็นบทบาท “ปูทาง” และสร้าง “เงื่อนไข”

หากไม่มี นายสนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาแสดงบทบาทเป็น “กองหน้า” ยากเป็นอย่างยิ่งที่การรัฐประหารจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น

“นายสนธิ” เป็นเช่นใด “นายสุวิทย์” ก็เป็นเช่นนั้น

ต้องยอมรับว่า เมื่อครั้งครองเพศเป็น “สมณะ” นายสุวิทย์มีบทบาทร่วมในการชัตดาวน์กับ “กปปส.” อย่างแนบแน่น เพียงแต่อยู่ต่างเทศะกันเท่านั้น

ด้านหลัก “กปปส.” อยู่กลางเมือง

ขณะที่ “นายสุวิทย์” คุมกำลังอยู่ทางด้านศูนย์ราชการ และแผ่แสนยานุภาพมายังหลักสี่ บางเขน อย่างเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว

หากรำลึกถึง “มือปืนป๊อปคอร์น” ก็ต้องรำลึกถึง “นายสุวิทย์”

คุณูปการของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีต่อการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มากเพียงใด คุณูปการของ “นายสุวิทย์” ก็มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

แล้วเหตุใด “นายสุวิทย์” จึงต้องประสบ “ชะตากรรม”

ไม่ว่าสถานการณ์ของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ว่าสถานการณ์ของ “นายสุวิทย์” อาจสรุปได้อย่างรวบรัดตามพังเพยโบราณของไทย

เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล

นั่นก็คือ เมื่อใช้งานได้สำเร็จเสร็จตามเป้าหมายแล้วก็มีเหตุอันจำเป็นต้องจัดการกับ “โคถึก” ก็มีเหตุอันจำเป็นต้องจัดการกับ “ขุนพล”

แม้ครั้งหนึ่งจะเคยหนุนหลังอย่างเต็มพิกัด

แม้ครั้งหนึ่งคนซึ่งได้ดีมีอำนาจจากการรัฐประหารจะเคยเดินหน้ากระดานเข้าไปนั่งพับเพียบเรียบร้อยอยู่เบื้องหน้าก็ตาม

สถานการณ์เปลี่ยน ความคิดก็ต้องเปลี่ยน

ในฐานะที่ “นายสุวิทย์” คร่ำหวอดอยู่ในผ้าเหลืองมาอย่างยาวนาน กระทั่งเรียกขานกันว่า “หลวงปู่” ย่อมเข้าใจในหลักธรรมอันเที่ยงแท้และแน่นอน

1 คือหลักว่าด้วย “กรรม” 1 คือหลักว่าด้วย “อนิจจัง”

สำนวนไทยโบราณก็คือ กรรมใดใครก่อ ไม่มีใครหลีกหนีกฎแห่งกรรมไปพ้น เมื่อกระทำอย่างไรในที่สุดผลจากการกระทำก็ตามมาคิดบัญชี

ทุกอย่างเป็นไปตามหลักอนิจจัง ไม่เที่ยง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน