คำประกาศเชิญชวน “มวลมหาประชาชน” ให้เข้าไปหนุนเสริมความคึกคักให้กับพรรครวมพลังประชาชาติไทยโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

มีความหมายเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

หากประเมินผ่าน “มวลมหาประชาชน” ที่เคยเคลื่อนไหวร่วมกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในห้วงนับแต่เดือนกันยายน 2556 กระทั่งเดือนพฤษภาคม 2557

ก็ต้องยอมรับว่า “มหึมา” และ “มโหฬาร”

ยิ่งหากผนึกตัวรวมพลังเข้ากับที่เคยร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในห้วงตั้งแต่ปลายปี 2548 กระทั่งปลายปี 2549 ก็ต้องยอมรับว่าหนักแน่นดังแผ่นผา

นี่คือฐานอันแข็งแกร่งเพื่อ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์

ต้องยอมรับว่าการผลักดันพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ครั้งนี้ต่างกับที่เคยร่วมกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ผ่านพรรคมหาชน

เพราะครั้งนี้ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ คือ “ตัวจริง”

การมาของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แม้จะมี นายธานี เทือกสุบรรณ ออกหน้า แต่ก็ไม่เหมือนกับการมาของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์

ที่สำคัญเพราะ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ กุม “ถุงเงิน”

แต่กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่เพียงแต่จะได้ นายสุริยะใส กตะศิลา หากแต่ยังได้คนของ กปปส.มาอย่างเต็มพิกัด

ทั้งยังเป็นหัวหน้าพรรค เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนการเมืองเอง

บทเรียนที่สำคัญสำหรับ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ จึงมิใช่บทเรียนจากพรรคจุฬาประชาชน หรือบทเรียนจากพรรคประชาธิปัตย์

ตรงกันข้าม กลับเป็นบทเรียนจาก 2 พรรค

1 คือ พรรคมหาชนที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นประธานที่ปรึกษา และ 1 คือ พรรคการเมืองใหม่ที่มี นายสุริยะใส กตะศิลา เป็นเลขาธิการพรรค

ที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ บทเรียนแห่งความล้มเหลว

บทเรียนแห่งความล้มเหลวของพรรคมหาชนและพรรคการเมืองใหม่นั่นแหละที่จะเป็นหมอนรองตีนให้กับ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในพรรครวมพลังประชาชาติไทย

พรรคของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

จากความล้มเหลวของพรรคมหาชน จากความล้มเหลวของพรรคการเมืองใหม่ นั่นแหละที่จะนำมาจัดความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อน

1 ความสัมพันธ์กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

และ 1 ความสัมพันธ์กับคสช. ความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคการเมืองอันเป็นเครือข่ายอย่างที่เรียกรวมๆ ว่า “พรรคคสช.”

2 ส่วนนี้แหละจะกำหนดความสำเร็จ หรือความล้มเหลว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน