ท่าทีของ คสช.และของรัฐบาลต่อพรรครวมพลังประชาชาติไทย แตกต่างไปจากท่าทีต่อพรรคอนาคตใหม่ค่อนข้างเด่นชัด

เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้

ต่อพรรครวมพลังประชาชาติไทยแสดงความยินดีอย่างออกนอกหน้า ต่อพรรคอนาคตใหม่หงุดหงิดและจ้องจับผิด

เท่ากับเสียงร่ำไห้ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทรงพลัง

เท่ากับคำประกาศทั้งของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่จะสร้างพรรคการเมืองแนวใหม่ นักการเมืองเลือดใหม่ สร้างความหงุดหงิด

แล้วความหงุดหงิดก็ส่งผลสะเทือน

พลันที่พรรคอนาคตใหม่ออก “แถลงการณ์” ฟ้องต่อสังคมว่า ภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนหนึ่งถูก “คุกคาม”

ไม่เพียงแต่มีการถ่ายภาพรถบริเวณหน้ายิมเนเซียม 5 หากแต่เมื่อกลับถึงบ้านยังมีทหารและตำรวจเข้าไปสอบถามในทำนองเตือน

แม้จะมีการปฏิเสธจากผู้เกี่ยวข้องอย่างขึงขัง

“ไม่ได้มีการสั่งการให้ดำเนินการในลักษณะนั้น ถ้ามีหลักฐานว่ามีเจ้าหน้าที่คุกคาม สามารถถ่ายรูปแล้วก็แจ้งได้เลย เราจะลงโทษตามกรอบ”

แต่อีก “น้ำเสียง” กลับเป็นอีกแบบ

นั่นก็สัมผัสได้จากที่ว่า “ขอถามว่า” เขาทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำผิดกฎหมายใครจะแตะต้องได้ ไม่ได้ให้นโยบายว่าจะต้องไปติดตาม

แต่ถ้าเขามีปัญหาก็ต้องไปเตือน “หรือแจ้งว่าไม่ควรทำ”

ขณะเดียวกัน ก็สัมผัสได้ด้วยว่า “อาจจะมีบ้าง หน่วยข่าวอยากรู้ว่าใครทำอะไร เป็นพื้นฐานของหน่วยข่าว แต่ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องไปคุกคาม”

เป็นคำพูดมาจาก 1 คสช. เป็นคำพูดมาจาก 1 รัฐบาล

เมื่อประมวล 2 ส่วนนี้เข้ามาด้วยกัน ก็จะประจักษ์ถึงการพยายามปฏิเสธ พร้อมกับการยอมรับไปด้วยในขณะเดียวกัน

เท่ากับ รับรอง ความจริงที่พรรคอนาคตใหม่ประสบ

ในที่สุดแล้ว ท่าทีต่อพรรครวมพลังประชาชาติไทย กับ ท่าทีต่อพรรคอนาคตใหม่ ดำเนินไปในกระสวนในแบบที่เรียกว่า สองมาตรฐาน และเลือกปฏิบัติ

ต่อพรรคอันเป็นพวกเดียวกัน อ้าแขนต้อนรับ

ต่อพรรคอันประเมินว่าเป็นตรงกันข้าม ไม่เพียงแต่ไม่ต้อนรับหากแต่ยังส่งเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจไปติดตาม เฝ้าดูในนามของความห่วงใย

นี่คือ บรรยากาศ “ก่อน” การเลือกตั้งตามโรดแม็ป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน