คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

มีคำถาม 1 ซึ่งก่อความหงุดหงิดเป็นอย่างสูงให้กับ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

นั่นก็คือ คำว่า “สืบทอด” อำนาจ

อาจเป็นคำถามในห้วงแห่งการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นในชุดของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ว่าจะเป็นในชุดของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ตาม

ยิ่งไม่อยาก “ตอบ” ยิ่งมีความพยายาม “ถาม”

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่าน “ประชามติ” ในเดือนสิงหาคม คำถามในเรื่อง “สืบทอด” อำนาจก็ค่อยๆ จางจากหายไป กระทั่งแทบไม่ได้ยินอีกเลย

แต่มีคำถาม 1 ปรากฏขึ้นทดแทนและทวีความคึกคักเป็นลำดับ

นั่นก็คือ คำถามในเรื่อง “โรดแม็ป” และคำถามในเรื่องอีกนานหรือไม่จะมีการปลดล็อกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหวประชุมหรือทำหน้าที่ตามปกติ

ยิ่งใกล้เดือนมกราคม 2560 คำถามนี้จะยิ่งถี่ยิบมากขึ้น

เบื้องต้นที่มีการเสนอคำถาม ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อาจตอบและอธิบายด้วยน้ำเสียงอย่างธรรมดา ปกติ เป็นธรรมชาติ

แต่เมื่อปรากฏขึ้นบ่อยครั้ง ถี่ยิ่งขึ้น ความหงุดหงิดเริ่มเข้ามา

อย่าไปตำหนิ “นักข่าว” เลย และอย่าไปตำหนิ “นักการเมือง” เลย เพราะคำถามแต่ละคำถามย่อมดำเนินไปอย่างสอดรับกับ “สถานการณ์”

ก็ “โรดแม็ป” กำหนดให้มีการเลือกตั้งไม่เกินปลายปี 2560

ก็คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็กำลังยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือที่เรียกว่า “กฎหมายลูก” กันอยู่มิใช่หรือ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายพรรคการเมือง ล้วนสัมพันธ์กับ “โรดแม็ป” อย่างแนบแน่น

“คำถาม” ย่อมจะปรากฏขึ้นและต้องการ “คำตอบ”

แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติมาแล้วจะมีข้อครหา ข้อตำหนิมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสงสัยในเรื่องการกำหนดกฎกติกาอันนำไปสู่ “การสืบทอด” อำนาจในทางการเมือง

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ทุกคนอยาก “เลือกตั้ง”

เชื่อเถิดว่า จำนวนคนที่ออกมาแสดงความเห็นชอบและยอมรับต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนหนึ่งอาจอยู่ในกลุ่มที่นิยมคสช. แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

และตั้งความหวังว่า “การเลือกตั้ง” จะปลดล็อกทาง “การเมือง”

อย่างน้อยบรรยากาศก่อนการเลือกตั้งก็จะทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆ คลี่คลายทำให้ไม่เกิดความอึดอัดเหมือนกับที่เกิดขึ้นในห้วง 2 ปีหลังรัฐประหาร

“การเลือกตั้ง” จึงเป็น “ความหวัง” ว่าประชาธิปไตยจะหวนกลับคืนมา

จากสภาพความเป็นจริงในทางการเมืองเช่นนี้เองที่คำถามในเรื่องโรดแม็ป ในเรื่องเลือกตั้งจะอึงคะนึงขึ้น

ความคิดที่จะทอดระยะหรือ “เลื่อน” โรดแม็ปให้ยาวนานออกไปจะกลายเป็นปัญหา ความคิดที่ไม่ยอมปล่อยให้พรรคการเมืองและนักการเมืองเคลื่อนไหวจะกลายเป็นปัญหา

คนที่เคยเป็น “โจทก์” จะกลับกลายเป็น “จำเลย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน