พลันที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมายืนยันว่า บทบาทของ “กลุ่มสามมิตร” มิใช่พรรคการเมือง ในอีกด้านก็เท่ากับเป็นการค้ำประกันความชอบธรรมในการเคลื่อนไหว

ไม่ว่าจะเป็นการไปใช้ “พลังดูด” ที่เลย

ไม่ว่าจะเป็นการนัดสังสรรค์อดีตส.ส. อดีตส.ว. ผู้นำท้องถิ่น ซึ่งมีความพร้อมจะลงสมัครรับเลือกตั้งในเครือข่ายของ “กลุ่มสามมิตร” ที่สนามกอล์ฟ ปทุมธานี

ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายไปพบปะนักการเมือง ประชาชน

เป็นความถูกต้อง ไม่ขัดต่อประกาศคสช.ฉบับที่ 57/2557 ไม่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน

หมายถึง “กลุ่มสามมิตร” ได้รับ “ไฟเขียว” ผ่านตลอด

มองจากมุมและความสัมพันธ์อันได้รับการเปิดเผยอย่างต่อเนื่อง การค้ำประกันโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เท่ากับเห็นว่า “กลุ่มสามมิตร” เป็นเหมือน “เครื่องมือ”

โดยพื้นฐานก็คือ เป็นเหมือนหูและตาให้กับคสช.และรัฐบาลในการเดินหน้าเข้าหาและรับฟังปัญหาของประชาชน

แล้วอาศัยช่องทางของคสช.และรัฐบาลไปแก้ไข

ผลเหมือนกับว่าเครดิตของ “กลุ่มสามมิตร” ในหมู่ประชาชนอยู่ในขั้นใจถึง พึ่งได้ เพราะติดต่อกับ “กลุ่มสามมิตร” มีค่าเหมือนกับติดต่อกับรัฐบาล

อานิสงส์จาก “กลุ่มสามมิตร” ย่อมตกกับคสช.และรัฐบาล

ที่เคยมีหลายฝ่ายประเมินว่า บทบาทของ “สามมิตรสัญจร” ดำเนินไปเหมือนกับ “ครม.สัญจร” ราวกับเป็นคอหอยและลูกกระเดือกจึงไม่ผิดพลาด

คำถามอยู่ที่ว่า “เป้าหมาย” ของ “กลุ่มสามมิตร” คืออะไร

คำตอบเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า เป็น “มุ้ง” หนึ่งอยู่ภายใน “พรรคพลังประชารัฐ” อันเชื่อกันแล้วว่าน่าจะเป็นอุปกรณ์สำคัญของคสช.และรัฐบาลในสนามการเลือกตั้ง

“กลุ่มสามมิตร” ดำเนินการ 1 หาเสียง 1 ใช้ “พลังดูด”

นำเอาบรรดานักการเมืองจากพรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะที่เคยเป็นองค์ประกอบของพรรคเพื่อไทยให้มาอยู่ในร่มเงาของตน

เส้นทางสุดท้ายคือ ต่อท่ออำนาจให้ “คสช.”

เมื่อมีเป้าหมายแจ่มชัดเช่นนี้จึงมิได้เป็นเรื่องแปลกอะไรเลยที่ “กลุ่มสามมิตร” สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น สะดวกสบาย

เมื่อเทียบกับพรรคเพื่อไทย หรือกระทั่งพรรคอนาคตใหม่

การครองความได้เปรียบเช่นนี้อาจทำให้ “กลุ่มสามมิตร” ประเมินว่าเป็นโอกาส แต่ในอีกด้านหนึ่งโอกาสเช่นนี้ก็มิได้หลุดรอดไปจากสายตาและการเฝ้ามองของประชาชน

คำถามอยู่ที่ว่าประชาชนจะเลือกหรือไม่เลือก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน