การพาดพิงและตอบโต้ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สร้างสีสันในทางการเมืองได้อย่างสดใส งามตา

สะท้อน “ภูมิปัญญา” ของแต่ละฝ่ายอย่างแยบยล

เรื่องเกิดขึ้นเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินสาย “ครม.สัญจร” ไประนองและพบข้าราชการคนหนึ่งมาต้อนรับมีชื่อว่า “ยิ่งลักษณ์”

ก็เกิดนัยประหวัดไปยัง “ยิ่งลักษณ์” อีกคน

พูดได้ยังไม่ทันข้ามวันด้วยซ้ำไปก็มี “ข้อความ” จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถามข้ามประเทศในทำนองยังจำได้ไหมโดยอาศัยทำนองเพลงของ รวงทอง ทองลั่นทม เป็นแบ๊กกราวด์

เช้าวันต่อมาก็กลายเป็นพาดหัวตัวไม้

ข้อความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สื่อถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สะท้อนท่วงทำนองที่สุภาพ อ่อนน้อม เยี่ยงสาวชาวเหนือได้อย่างครบถ้วน

เพียงแต่ข้อความหนึ่งซึ่งสะกิดต่อมอย่างลึกซึ้ง

นั่นก็คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เอ่ยถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในห้วงที่เป็น “ผบ.ทบ.” มิใช่ในสถานะอันเป็น “นายกรัฐมนตรี”

เป็นการพูดในจุดอัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

น่าสนใจก็ตรงที่เมื่อสารจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แอบอิงอยู่กับสภาพความเป็นจริงในอดีต การตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดินทางถึงชุมพรก็คมคาย

เพราะว่าอ้างอิงนิทานเรื่องพ่อปู แม่ปูและลูกปู

การส่งข้อความระหว่างกันจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คนแรกอาศัยสื่อหนังสือพิมพ์เป็นหลัก พูดให้ประชาชนฟังและสื่อก็นำไปรายงาน

ขณะที่คนหลังใช้โซเชี่ยล มีเดีย

กระนั้น เนื้อหาหรือพรมแดนในทางความคิดอันสะท้อนมาเป็นคำพูดหรือข้อความก็วางอยู่บนฐานทางวัฒนธรรมในแบบโบราณ

ไม่ว่าจะเป็นการอ้างถึงตำแหน่ง “ผบ.ทบ.” ไม่ว่าจะเป็นการอ้างถึงนิทานเก่าว่าด้วย พ่อปู แม่ปู ลูกปู

ทั้งหมดนี้ไม่มีความยุ่งยากในการถอดรหัส ตีความ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนรับรู้มาตั้งแต่เยาว์วัยแล้วว่าหมายความอย่างไร

จะมองให้สนุกก็ได้ จะมองให้จริงจังก็ได้

ตัวอย่างจากการพาดพิง ตอบโต้ ระหว่างนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน กับ อดีตนายกรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นปัญหาที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง

หากเริ่มต้นจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เท่ากับยืนยันว่า สังคมประเทศไทยยังไม่ได้ก้าวไปไหน ยังอยู่กับปัญหาและความขัดแย้งเก่าๆ เท่ากับชี้ชัดว่าแม้จะผ่านการเลือกตั้งไปแล้วก็ยังไม่จบ

การต่อสู้ยังจะดำเนินต่อไปและทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน