อาการแตกดัง “โพละ” จากพรรคพลังชาติไทย หรือที่มีอักษรย่อว่า “พพชท.” เป็นสัญญาณอันทรงความหมายยิ่งในทางการเมือง

เพราะคนที่ถอนตัวออกมาเป็นถึงระดับ “รองหัวหน้าพรรค”

จึงไม่เพียงแต่ยื่นใบลาออกคนเดียว ตรงกันข้าม ยังดึงเอา รองโฆษกพรรค รองเหรัญญิกพรรค และกรรมการบริหารพรรคอีกจำนวนหนึ่งตามมาด้วย

ทั้งๆ ที่พรรคเพิ่งจดจัดตั้งพรรคเมื่อเดือนกรกฎาคม นี้เอง

ทั้งๆ ที่พรรคการเมืองนี้หัวหน้าพรรคเพิ่งประกาศถึงแนวโน้มและความเชื่อมั่นว่าจะได้รับเลือกตั้งไม่ต่ำกว่าจำนวน 300 คนจากทั่วประเทศ

พรรคการเมืองนี้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นไปได้ว่ากรณีของพรรคพลังชาติไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจมิได้รู้เห็นหรือเป็นใจให้กับกระบวนการจัดตั้งและสร้างพรรค

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเปิดเผย

เพียงแต่มีชื่อของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ ซึ่งดำรงสถานะเป็นหัวหน้าพรรคเท่านั้นที่เคยมีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของคสช.ตั้งแต่รับราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

นั่นก็เป็นส่วนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มากกว่า

ขณะเดียวกัน นั่นก็มิได้หมายความว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเข้ามารับผิดชอบกับพรรคพลังชาติไทยไปด้วย

แม้จะมี “พลัง” เช่นเดียวกับ “ประชารัฐ” ก็ตาม

ต้องยอมรับว่า นับแต่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติด้วยคะแนนเสียงกว่า 16 ล้านเสียงเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ปรากฏการณ์เช่นพรรคพลังชาติไทยเกิดขึ้นอย่างคึกคัก

นั่นก็คือ พรรคประชาชนปฏิรูปเป็นพรรคแรก

ต่อมาก็มี พรคพลังธรรมใหม่ พรรคทางเลือกใหม่ มีพรรคพลังประชารัฐและมีพรรครวมพลังประชาชาติไทย

พรรคเหล่านี้เห็นด้วยกับ “รัฐประหาร”

พรรคเหล่านี้เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของ “คสช.” และประสานเสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

พรรคเหล่านี้มีคำว่า “พลัง” เป็นองค์ประกอบ

ชะตากรรมของพรรคพลังชาติไทยจึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งว่า การเกิดขึ้นของพรรคที่เดินแนวทางเดียวกันกับของคสช.ก็ไม่แน่ว่าจะจีรังยั่งยืน

เพียงจากเดือนกรกฎาคมมายังเดือนกันยายนก็ได้เรื่อง

ปรากฏว่าผู้ร่วมจดแจ้งชื่อพรรคจำนวนหนึ่งก็ยื่นใบลาออกด้วยเหตุผลที่ว่า “จะได้ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคอื่นซึ่งมีผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือติดต่อทาบทามมา”

เป็นการโยก “พลังชาติไทย” ไปร่วมกับ “พลังอื่น”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน