ปฏิกิริยาจากพรรคการเมืองต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 13/2561 เป็นปฏิกิริยาที่สามารถเข้าใจได้ ไม่ว่าจะมาจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะมาจากพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าจะมาจากพรรคชาติไทยพัฒนา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อการเพิ่มล็อกในเรื่อง “โซเชี่ยล มีเดีย”

ตรงนี้เองที่ยืนยันการตั้งข้อสังเกตเชิงอธิบายถึง “ความกลัวที่ดำรงอยู่ของคสช.” อันมาจากวงในระดับ นายวิษณุ เครืองาม

นั่นก็คือ คสช.กลัวในเรื่อง “การหาเสียง”

นั่นก็คือ คสช.กลัวว่าการใช้ช่องทางผ่าน “โซเชี่ยล มีเดีย” ของพรรคการเมืองจะก่อให้เกิดความปั่นป่วน ยุ่งเหยิง

พรรคการเมืองจึงสงสัยว่า “คสช.” กลัวอะไร

หากดูจากความพยายามของคสช.ในการเล่นงานพรรคเพื่อไทยในวาระครบรอบ 4 ปีของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ก็จะเข้าใจความรู้สึกของคสช.มากยิ่งขึ้น

เพราะว่าการไปแจ้งความกล่าวโทษต่อการแถลงข่าวของแกนนำพรรคเพื่อไทยบางคนนั้นอ้างอิงไม่เพียงพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หากแต่โยงไปยังประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

เป้าหมายก็คือ ไม่ต้องการให้มีการแถลงข่าว

นี่ย่อมตรงกับที่คสช.เข้าไปแจ้งความกล่าวโทษ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคณะเนื่องจากการเฟซบุ๊กไลฟ์ที่พาดพิงไปยังคสช.

ความหมายก็คือ ไม่ต้องการให้มีการพาดพิง

พลันที่มีข้อห้ามปรากฏอยู่ในคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 13/2561 ในเรื่องการหาเสียงผ่านสื่อโซเชี่ยล มีเดีย ก็ก่อให้เกิดปฏิกิริยาและความตื่นตัวอย่างคึกคัก

เพราะอ่านออกว่า “เจตนา” แท้จริงของคสช.คืออะไร

ก็อย่างที่แกนนำพรรคเพื่อไทยมีความเห็น ก็อย่างที่แกนนำพรรคอนาคตใหม่มีความเห็น ก็อย่างที่แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนามีความเห็น

ความโกลาหลจากการเฝ้ามองของ “คสช.” จะต้องตามมา

เพราะว่ามีความเหลื่อมซ้อนเป็นอย่างสูงระหว่างการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจต่อพรรคกับการหาเสียง

คำตอบจากกรณีนี้จึงต้องการความแจ่มชัด

บอกได้เลยว่า การนัดพบระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 28 กันยายน กับพรรคการเมืองจะเป็นการนัดพบอันทรงความหมาย

ทุกคำถามอาจมีกับ “กกต.” แต่เป้าแท้จริงย่อมอยู่ที่ “คสช.”

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าพรรคประชาชาติ ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา หรือแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมมีคำถาม ย่อมมีความเห็น

เป็นความเห็นไปยัง “คสช.” อย่างเด่นชัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน