แม้ นายวิษณุ เครืองาม จะออกมาให้ความมั่นใจว่า รัฐมนตรีสามารถเข้าไปดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองได้โดยไม่ต้องลาออก

ทำให้ 4 รัฐมนตรีที่เข้าไปในพรรคพลังประชารัฐขึงขัง

ไม่ว่า นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค ไม่ว่า นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค ไม่ว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ไม่ว่า นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค

ยืนยันจะ “ลาออก” ในเวลาอันเหมาะสม

แต่หากฟังเสียงที่โหวกเหวกมาจาก ไม่ว่าจะพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะพรรคประชาธิปัตย์ กดดันโดยตรงไปยังทั้ง 4 อย่างพร้อมเพรียงกัน

นี่คือ ความละเอียดอ่อน “ใหม่” ในทางการเมือง

เสียงเรียกร้องจากพรรคการเมืองและนักการเมืองอาจเป็นเรื่องปกติ เพราะว่ามองเห็นการได้เปรียบและเสียเปรียบอย่างเด่นชัด

แต่ที่ต้องให้ความสนใจคือ กระแสในทาง “สังคม”

ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียงจาก นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกกต. ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียงจาก นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ซึ่งได้รับความเจ็บปวดจากกรณีเดือนพฤษภาคม 2535

จำเป็นที่บรรดา “รัฐมนตรี” ต้องให้ความสนใจอย่างเป็นพิเศษ

เพราะหากว่า เสียงจาก “นักการเมือง” ประสานเข้ากับความรู้สึกในทาง “สังคม” นั่นหมายถึงการก่อรูปขึ้นของ “กระแส”

หาก “กระแส” เลื่อนไหลไปสูง ยิ่งจะลำบาก

ก่อนหน้านี้ คสช.ถูกมองว่าทำทุกอย่างเพื่อสร้างความได้เปรียบกับตนเองทั้งๆ ที่กุมอำนาจอยู่ในมือมาตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ไม่ว่าจะประกาศและคำสั่ง

เมื่อประสานเข้ากับ “รัฐธรรมนูญ” และ “กฎหมายลูก” เข้าไปอีก ยิ่งเท่ากับเป็นการันตีว่าการสืบทอดอำนาจจะดำเนินไปอย่างฉลุย

ทำอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่ๆ

เท่านั้นยังไม่เพียงพอ คสช.ยังพยายามเตะถ่วง หน่วงยื้อ วันเลือกตั้งให้ทอดยาวออกไป ขณะเดียวกัน ก็สร้างความได้เปรียบอยู่ตลอดเวลา

แม้กระทั่งเมื่อจัดตั้ง “พรรคพลังประชารัฐ” ขึ้น

แต่ละการเคลื่อนไหวของคสช.นับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นี่แหละที่จะกลายเป็นปัจจัยอันแหลมคม

ในเบื้องต้นอาจเป็นคุณ อาจเป็นประโยชน์

แต่เมื่อเวลาผ่านมาย่างเข้าสู่ปีที่ 5 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการเลือกตั้งได้ขึ้นรางในทางเป็นจริง หากยังฉวยโอกาสก็เท่ากับเป็นการค้ากำไรเกินควร

ที่เคยเป็น “ประโยชน์” ก็อาจกลายเป็น “โทษ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน