คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

เหมือนกับการมี ส.ว. “ลากตั้ง” จำนวน 250 คนอยู่ในมือจะสามารถชี้ต้นตาย ชี้ปลายเป็นให้กับ “การเมือง” ในอนาคตได้

อาจเป็นเช่นนั้น

หากเป็นในยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520 หากเป็นในยุคที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ยังประกาศและบังคับใช้อยู่

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จะได้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

ไม่แปลกที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะสไลด์จากตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก” เข้าดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี”

แม้จะไม่ได้ผ่านสนาม “การเลือกตั้ง”

แต่เมื่อสังคมประเทศไทยผ่านยุคแห่ง “การเลือกตั้ง” ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาแล้ว การหยิบชิ้นปลามันของ “ตาอยู่” อาจยากลำบากมากขึ้น

แม้ “ตาอิน” กับ “ตานา” จะยังทะเลาะกันอยู่ก็ตาม

หากฟังจากน้ำเสียงของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายดายเหมือนกับ “ปอกกล้วยเข้าปาก”

แม้จะมี ส.ว. “ลากตั้ง” จำนวน 250 คนอยู่ในมือ

ปัจจัย 1 เขาให้น้ำหนักไปยังผลของ “การเลือกตั้ง” ปมเงื่อนอยู่ตรงที่ว่า “ประชาชน” ตัดสินใจต่อการเลือกตั้งอย่างไร

เป็นไปในแบบ เบี้ยหัวแตก หัวแหลกหรือไม่

ปัจจัย 1 เขาให้น้ำหนักไปยังสิทธิอำนาจของ ส.ว.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญก็คือ แม้จะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมในกระบวนการแห่ง “ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ” นายกรัฐมนตรีที่มาจาก 250 ส.ว.จึงแทบไม่มีหลักประกัน

เพราะอำนาจอยู่ในกำมือของ ส.ส.ซึ่งมาจาก “การเลือกตั้ง”

บรรดา “นักลากตั้ง” ทั้งหลาย หากต้องการประสบการณ์ร้อนหนาวทางการเมืองอย่างไม่เข้มข้น ไม่จำเป็นต้องย้อนไปศึกษาจากอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างน้อยก็ 2 คน

1 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ 1 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

แม้อำนาจบารมีอาจทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ต้องประสบกับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ แต่บรรดา “ไอ้เณร” ทั้งหลายก็เหน็ดเหนื่อยอย่างสาหัส

ยิ่งภาพของ นายบรรหาร ศิลปอาชา ยิ่งรันทดระทวย

ยิ่งกว่านั้น บรรยากาศทางการเมืองในห้วงนับแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป ก็จะพิสูจน์ทราบว่าบรรดา “นักลากตั้ง” เมื่อประสบกับกระแสเร่งเร้าในเรื่อง “การเลือกตั้ง” จะเป็นอย่างไร

จะทนได้หรือไม่ หรือว่าอาจต้องยก “โพเดียม” ทุ่ม

พลันที่ปี่กลองของ “การเลือกตั้ง” กระหึ่มขึ้น สถานการณ์ทางการเมืองก็เข้าสู่กระบวนการใหม่ โหมดใหม่

นี่คือ “กลิ่นอาย” แห่งระบอบประชาธิปไตย ใครก็ตามที่คิดจะเข้าสู่กระบวนการ “ประชาธิปไตย” ก็จำเป็นต้องฟังเสียงจากคนอื่น จะชมชอบแต่การร้องเพลงให้ตัวเองฟังคงไม่ได้

“การเลือกตั้ง” นั่นแหละจะกรองทุก “สรรพสิ่ง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน