วิเคราะห์การเมือง : ระฆัง การเมือง สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แผน “ยุบพรรค”

ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะมองและประเมินว่าท่าทีล่าสุดที่จะวางมือทางการเมืองของ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เป็นความไม่พอใจต่อการเปลี่ยนแปลงในพรรคชาติไทยพัฒนา

นี่ย่อมต่างจากกรณี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ

ความหงุดหงิดของ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ได้รับผลสะเทือนจากการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคชาติไทยพัฒนาอย่างแท้จริง

เพราะมาดหมายเก้าอี้ “เลขาธิการพรรค” อยู่ก่อนแล้ว

เมื่อต้องขยับออกพร้อมกับการเข้ามาสอดสวมแทนของ นายประภัตร โพธสุธน โดยความไว้วางใจของ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ก็มีความจำเป็น

แต่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ไม่ใช่

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ก็เช่นเดียวกับ นายบรรหาร ศิลปอาชา นั่นก็คือ เกิดและเติบโตมาพร้อมกับพรรคชาติไทยอันเป็นบรรพบุรุษของพรรคชาติไทยพัฒนาในปัจจุบัน

เพียงแต่ฐานของ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล คือ อ่างทอง

ขณะที่ฐานของ นายบรรหาร ศิลปอาชา อยู่สุพรรณบุรีตั้งแต่เป็น ส.ส. เป็นเลขาธิการพรรค เป็นหัวหน้าพรรค กระทั่งเป็นนายกรัฐมนตรี

การยุบพรรคชาติไทยเมื่อปี 2551 จึงเป็นความเจ็บปวด

ขณะเดียวกัน บทบาท นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล หลังรัฐประหารอาจเป็น “เป้า” ที่จะนำไปสู่การทำอะไรกับพรรคชาติไทยพัฒนา

จึงจำเป็นที่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล จักต้องถอย

การตัดสินใจของ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล จึงมิได้มาจากความขัดแย้งภายใน ตรงกันข้าม กลับจะเป็นการเสียสละอย่างล้ำลึก

นั่นก็คือ ยอมสละเพื่อรักษา “พรรค”

อย่าได้แปลกใจที่จะได้ยินเสียง “ขอบคุณ” ดังมาจากปาก น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา พลันที่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แสดงสปิริต

เพราะว่ามี “เงาทะมื่น” บีบรัดอยู่เงียบๆ

หาก นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แสดงความเห็นอะไรล่อแหลม ก็อาจจะเข้าข่ายพยายามครอบงำและบงการพรรคชาติไทยพัฒนา

เหมือนที่กำลังจ้องพรรคเพื่อไทยอยู่ขณะนี้

บทบาทของ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล จึงมิได้เป็นการเสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตของพรรคชาติไทยพัฒนาเท่านั้น

หากที่สำคัญยังเป็นการเตือนให้ “สำเหนียก”

เป็นการเตือนไปยังพรรคการเมืองอื่น ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยให้เพิ่มความระมัดระวังในทางการเมือง

เพราะความต้องการ “ยุบพรรค” ยังคงมีอยู่อย่างเข้มข้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน