คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

มีความจำเป็นต้องเปรียบเทียบระหว่างข่าว “ลอบสังหาร” กับข่าว “คาร์บอมบ์” จึงจะทำให้เห็นภาพและพัฒนาการอันเด่นชัด

ข่าว “คาร์บอมบ์” ปรากฎขึ้นกลางปี 2559

หลังสถานการณ์ “อโลฮา ฮาวาย” เล็กน้อย พลันที่ข่าว “คาร์บอมบ์” ปรากฎขึ้นโดยมีการบุกเข้าตรวจค้นทั้งที่ย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหงและในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ

ก็กลายเป็นเรื่องอึกทึก ครึกโครม

เพราะว่านี่มิได้เป็น “คาร์บอมบ์” อย่างธรรมดา ตรงกันข้าม การข่าวยืนยันอย่างเด่นชัดว่าเป็นการตั้งใจจะขยายปฎิบัติการจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มายังกทม.

ความตื่นตระหนกย่อม “บังเกิด”

ผลก็คือ ข่าวอันเกี่ยวกับสถานการณ์ “อโลฮา ฮาวาย” ค่อยๆ จางหายไปจากความสนใจ และเรื่องของ “คาร์บอมบ์” ได้เข้าามาแทนที่

แล้วสัมพันธ์กับข่าว “ลอบสังหาร” ครั้งใหม่อย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นข่าว “คาร์บอมบ์” ไม่ว่าจะเป็นข่าว “ลอบสังหาร” เป็นเรื่องของการมุ่งร้ายหมายชีวิต โดยอาศัยความรุนแรงมาเป็นเครื่องมือ

“คาร์บอมบ์” เคยเขย่าขวัญมาแล้ว

ในเดือนสิงหาคม 2559 ก็มีปฎิบัติการ 17 จุดพร้อมกันในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนไล่มาเรื่อยจนถึงอ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

การขยายมายัง “กทม.” จึงมิได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย

แต่เมื่อข่าว “คาร์บอมบ์” นำมาวางเรียงกับข่าว “ลอบสังหาร” ที่ปะทุขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ก็ก่อความตื่นตระหนกไปอีกอย่าง 1 เพราะว่าการลอบสังหารครั้งใหม่เป็นการขู่แสดงความอาฆาต และเป็นการขู่ผ่านกระบวนการโซเชียล มีเดีย ผ่านสื่อ “ออนไลน์”

มิได้ขู่ฆ่าด้วย “คาร์บอมบ์” หากขู่ฆ่าผ่าน “สื่อ”

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาให้รายละเอียด ภาพการขู่ฆ่าเพื่อนำไปสู่ “ลอบสังหาร” ครั้งใหม่

1 เป็นเรื่องอันเกิดขึ้นในกระบวนการ “ออนไลน์”

เท่ากับเริ่มต้นผ่านสื่อใหม่ที่เรียกกันว่า “สื่อกระจก” แล้วเข้าไปอยู่ในการเฝ้ามองของฝ่ายความมั่นคง กระทั่งนำมาเปิดเผย แล้วจึงอึกทึกครึกโครมผ่าน “สื่อกระดาษ”

1 จากการข่าวของคสช.ระบุว่า น่าจะมาจากคนที่มีปัญหา “ทางจิต”

ไม่ว่าในที่สุดแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร จะสามารถนำตัว “มือโพสต์” มาได้หรือไม่ แต่ก็ต้องยอมรับในพัฒนาการของข่าว “ลอบสังหาร”

การขู่ฆ่าผ่าน “ออนไลน์” ก็กลายเป็น “ประเด็น” ขึ้นมาได้

จากยุคของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้าสู่ยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ การลอบสังหารแปรเปลี่ยน

เท่ากับความรุนแรงแปรเปลี่ยนไปตาม “เทคโนโลยี”

ขณะเดียวกัน การใช้ “เทคโนโลยี” เพื่อสนองเป้าหมายในทาง “การเมือง” ก็แปรเปลี่ยนตามไปด้วย

ยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม อาจใช้ “ปืน” เป็นอาวุธเป็นเครื่องมือ มาถึงยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พัฒนาการเข้าสู่การใช้ “จรวด อาร์พีจี” และเข้าสู่ยุค “คาร์บอมบ์”

แต่กล่าวสำหรับยุคดิจิตอล “ลอบสังหาร” กระทำการผ่าน “ออนไลน์”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน