วิเคราะห์การเมือง : ทิศทาง การเมือง เป้าหมาย คือ การเลือกตั้ง ไม่มีทาง เลี่ยงได้

วิเคราะห์การเมือง : ไม่ว่าจะยื้อ ถ่วง หน่วง รั้ง ดึง อย่างไร ไม่ว่าจะเลื่อนออกจากเดือนกุมภาพันธ์ไปเป็นเดือนมีนาคม แต่ในที่สุดก็ต้อง “เลือกตั้ง”

เพราะหนทางสุดท้ายก็ยังต้อง “เลือกตั้ง” อยู่ดี

หากมองความพยายามที่จะ “อยากอยู่ยาว” อย่างที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยสรุปภายหลังที่ประชุมสปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนกันยายน 2558

อาจสามารถเลื่อน “ปฏิญญาโตเกียว” มาเป็น “ปฏิญญานิวยอร์ก”

อาจสามารถเลื่อน “ปฏิญญานิวยอร์ก” มาเป็น “ปฏิญญาทำเนียบขาว” และหรือ “ปฏิญญาลอนดอน” แต่ในที่สุดก็ต้อง “เลือกตั้ง” ไม่มีทางที่จะยื้อ ถ่วง หน่วง รั้ง ดึงไปได้ตลอดกาล

เพราะนี่คือ “วิถี” แห่งระบอบ “ประชาธิปไตย”

ขอให้ดูพรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ดู นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขอให้ดู นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นกรณีศึกษาก็แล้วกัน

พรรคประชาธิปัตย์เคย “บอยคอต” การเลือกตั้ง

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เองเคยนำ “มวลมหาประชาชน” ของกปปส.ออกสกัดขัดขวางการเลือกตั้งอย่างเห็นๆ กันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557

ถามว่าแล้วทุกวันนี้เป็นอย่างไร

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ต้องหวนกลับมาตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยเพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

เลือกตั้งจึงกลายเป็น “วิถี” ที่มิอาจปฏิเสธได้

ถามว่าเหตุใดจึงมีกระบวนการ “บอยคอต” ถามว่าเหตุใดจึงมีกระบวนการ ยื้อ ถ่วง หน่วง รั้ง ดึง มิให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดที่ควรจะเป็น

คำตอบไม่มีอะไรซับซ้อน คือ กลัวแพ้

อย่างกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ กรณีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มองเห็นได้อย่างเด่นชัด

เพราะเลือกตั้งนับแต่เดือนมกราคม 2544 มาแล้วก็แพ้ตลอด

กล่าวสำหรับคสช.แม้จะได้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา แม้จะมีความเชื่อมั่นว่ากฎกติกาล้วนแต่อำนวยให้กับตน พับสนามเล่นแน่ๆ

แต่สำรวจลับๆ เมื่อใดก็ยังไม่ได้ชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด

ยิ่งพรรคเพื่อไทยแตกแยกตัวออกไปเป็น พรรคประชาชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ ยิ่งตระหนักว่ายุทธวิธีนี้ของพรรคเพื่อไทยมาจากกฎกติกาเป็นสำคัญ

หากพรรคเพื่อไทยยังนำ พรรคที่แยกไปมาเสริม

แม้คสช.จะมี 250 ส.ว.อยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่เมื่อเสียงในสภาผู้แทนราษฎรตกเป็นรองก็เดินหน้าลำบาก

จึงจำเป็นต้องยื้อ ถ่วง หน่วง รั้ง และดึง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน