วิเคราะห์การเมือง

กรณีที่มีการจัดการกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 หากมองอย่างพยายามเข้าใจต่อ “สถานการณ์” ก็จะมองเห็นความจำเป็นที่ต้องกระทำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกรณีโครงการ “จำนำข้าว”

ไม่ว่าจะโดยการถอดถอนผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามที่ป.ป.ช.เสนอมา ไม่ว่าจะโดยยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เพราะว่า “จำนำข้าว” เป็นเรื่องร้อนตั้งแต่หลังเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554

ไม่เพียงเป็นผลงานในการเปิดโปงโจมตีโดยพรรคประชาธิปัตย์ หากยังมีนักวิชาการจากทีดีอาร์ไอประสานเข้ากับนักวิชาการจากนิด้า

และเป็นปมที่ “กปปส.” กระพือตลอดก่อนการ “รัฐประหาร”

เมื่อรัฐประหารสำเร็จในเดือนพฤษภาคม 2557 จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเดินหน้าหาบทสรุปให้กับโครงการรับจำนำข้าวเพื่อสร้างความชอบธรรมในทางการเมือง

แค่นั้นก็น่าจะ “เพียงพอ” แล้ว มิใช่หรือ

ที่ว่า “เพียงพอ” เพราะจากกระบวนการถอดถอน จากกระบวนการฟ้องร้องผ่านศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็หมด “อนาคต” แล้วอย่างสิ้นเชิง

เบื้องต้นก็คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูก “ตัดสิทธิ์” จำเป็นต้องเว้นวรรคทางการเมืองอย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี

ไม่สามารถอยู่ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หมายเลข 1 ได้

ขณะเดียวกัน ตัวเลขความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวซึ่งนักวิชาการจากทีดีอาร์ไอเคยระบุ ประสานกับนักวิชาการจากนิด้า ประสานเข้ากับที่ปรากฏในคำวินิจฉัยของป.ป.ช. อย่างน้อย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ก็ได้สรุปตัวเลขออกมา

เท่ากับเปรอะเปื้อนไปตลอดทั้งร่างของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

กล่าวในทางการเมือง เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ถือได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ในสถานะเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 คน

1 คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 1 คือ จอมพลถนอม กิตติขจร

อย่างน้อยที่สุด 2 จอมพลนี้ก็เคยถูกคำสั่งจากมาตรา 17 หรือคำสั่งพิเศษลักษณะเดียวกันให้ยึดทรัพย์ เพราะสงสัยว่าได้มาจากการทุจริตและคอร์รัปชั่น

ถือได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้ยังไม่ถูกยึดทรัพย์แต่ก็พอๆ กัน

คำถามที่เสนอเข้ามาก็คือ มาตรการรุกไล่และจัดการทางการเมืองเพียงแค่นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไปแทบไม่เป็นอยู่แล้ว

แล้วทำไมต้องเอาเรื่องน้ำท่วมเมื่อปี 2554 มาเล่นงานด้วย

คำตอบอาจมีมากมายหลายเหตุผล โดยเฉพาะสภาพที่เป็นน้ำท่วมซึ่งหนักหนาสาหัสอย่างยิ่งยวด

แต่คำถามก็คือ มีรัฐบาลไหนไม่ประสบกับวิกฤตของ “อุทกภัย” บ้าง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

แล้วทำไมเจาะจงเฉพาะกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คนเดียว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน