บทเรียนการเมือง สถานการณ์ตุลาคม 2519 กับ“อนาคตใหม่”

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

มีความพยายามจะสร้างกระแสบดขยี้และทำลายล้างพรรคอนาคตใหม่โดยพุ่งเป้าไปยัง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล

คล้ายๆ กับที่เคยเกิดก่อนสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519

เพียงแต่ห้วงเวลานั้นพุ่งเป้าเข้าใส่พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยมและพรรคพลังใหม่

โดยโยงเข้ากับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

ข้อกล่าวหาก็คือ เล่นงานกลุ่มและองค์กรเหล่านี้เสมือนกับเป็นเครือข่ายของ “คอมมิวนิสต์” ทั้งในและต่างประเทศ

มาถึงสถานการณ์ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ข้อกล่าวหา “คอมมิวนิสต์” อาจไม่อึกทึกครึกโครมเท่าใดนัก

หากแต่เป็นข้อกล่าวหาว่า “ล้มเจ้า”

เป็นสถานการณ์เหมือนที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปลุกขึ้นโดยกระหน่ำเข้าใส่พรรคไทยรักไทย ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

เป้าการโจมตีคือ นายทักษิณ ชินวัตร

บทเรียนจากก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 บทเรียนก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จึงถูกนำมาใช้อีกครั้งต่อพรรคอนาคตใหม่

ปฏิบัติการ IO เริ่มเห็นอย่างเด่นชัดตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อพรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคอนาคตไหม้บ้าง เป็นพรรคอนาคตหมด

เชื่อว่าจะสามารถบดขยี้พรรคอนาคตใหม่ได้

แต่แล้วปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นเมื่อคะแนนและความนิยมของพรรคอนาคตใหม่ขึ้นสู่กระแสสูงสามารถเอาชนะได้แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์

ที่เป็นเช่นนี้เพราะสถานการณ์ในปี 2562 ต่างจากเมื่อปี 2519

ปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ คนรุ่นใหม่สามารถสื่อสารกันโดยตรงผ่านโซเชี่ยลมีเดีย ไม่จำเป็นต้องพึ่งสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์

โซเชี่ยลมีเดีย ไม่เพียงแต่จะทำให้คะแนนและความนิยมของพรรคอนาคตใหม่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว หากแต่ยังช่วยปกป้องจากความเข้าใจผิด

ปฏิบัติการ IO อาจคึกคักเป็นอย่างยิ่ง

แต่เมื่อพรรคอนาคตใหม่ตอบโต้ปฏิบัติการ IO จากฝ่ายตรงกันข้ามด้วยการนำเอาความจริงที่จริงแท้ ขึ้นมาแสดงก็เหมือนแสงไฟอันสาดฉายไปในความมืด

เทคโนโลยีและการสื่อสารสมัยใหม่จึงมีส่วนอย่างสำคัญในแนวรบนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน