คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

การใช้ “อภินิหาร” ในทางกฎหมายเพื่อเรียกเก็บภาษีการซื้อ ขายหุ้นชินคอร์ปจำนวนไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านบาทสร้างประเด็นขึ้นมาไม่น้อย

ประเด็น 1 คือ จะเก็บได้หรือไม่

ที่ว่าจะเก็บได้หรือไม่ที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะรับรู้กันตั้งแต่เมื่อก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 แล้วว่าเก็บไม่ได้

เพราะว่ามีกฎกระทรวงยกเว้นให้กับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

ประเด็น 1 คือ ได้มีคำพิพากษาจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ยึด

ทรัพย์สินจำนวน 46,000 ล้านบาท ที่ได้จากการซื้อขายครั้งนั้นแล้ว

ยังจะต้องเรียกเก็บภาษีอีก 16,000 ล้านบาทอีกหรือ

หากทำได้จริงก็เท่ากับทั้ง “ยึดทรัพย์” ทั้งต้อง “เสียภาษี” รวมแล้วเท่ากับ 62,000 ล้านบาท

ความเป็นจริง 1 อันกลายเป็นข้อกังขาก็คือ ทั้งๆ ที่ผ่านรัฐประหารมาแล้วถึง 2 ครา คือเมื่อเดือน

กันยายน 2549 และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ทำไมไม่จัดการให้เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด

ความคิดลักษณะนี้เป็นความคิดจากความเป็นจริงของคนไทยที่ผ่านกระบวนการรัฐประหารมาแล้วหลายครั้งหลายหน

หลังรัฐประหารก็มักจะมีเรื่องแรงๆ ตามมาเสมอ

ต่างก็รับรู้และมีบทสรุปร่วมว่า การทำรัฐประหารไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือน

พฤษภาคม 2557 เป้าหมายก็อยู่ที่คนคนเดียว

คนคนเดียวก็คือ คนคนนั้น นั่นแหละ

ทำไมจึงปล่อยให้ “ลอยนวล” มาจนถึงปี 2560

จึงไม่แปลกที่จะมีบางฝ่ายบางพวกตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะอ้าง “อภินิหาร” แต่ก็คงจะทำอะไรไม่ได้ และอาจเป็นการเตะถ่วง รั้งดึงไปเรื่อย

จะยกขึ้นมาก็เพื่อให้สังคมไม่ลืม “คนคนนั้น” เท่านั้น
น่าสนใจที่บางพวกบางฝ่ายที่ตั้งข้อสังเกตแบบนี้มิได้เป็นฝ่ายเดียวกับ “คนคนนั้น” 2 หากแต่เป็นกองเชียร์รัฐประหารมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ตั้งแต่ก่อนเดือนกันยายน 2549 ตั้งแต่ก่อนเดือนพฤษภาคม 2557

กลายเป็นว่าพวกเดียวกันนั้นเองที่มองเห็นเสมอเป็นเพียงพิธีกรรมหลอกๆ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเป็น “ปาหี่” ในทางการเมืองเท่านั้น

อาจเป็นเพราะอกหักซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงเริ่มหมดความเชื่อถือ

ไม่ว่าในที่สุด เส้นทางการเรียกเก็บภาษีการซื้อขายหุ้น “ชินคอร์ป” จะลงเอยอย่างไรและเมื่อใด

แต่เมื่อมีการสำแดงและบ่งบอกว่าเป็น “อภินิหาร” ขึ้นมาแล้วโดยดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์แห่งสหรัฐอเมริกา

เรื่องนี้มีความจำเป็นต้องพิสูจน์เพื่อยืนยันอย่างทันกับสถานการณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน