วาระ การเมือง เรื่องแก้ “รัฐธรรมนูญ” วาระ แห่งชาติ

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

วาระ การเมือง เรื่องแก้ “รัฐธรรมนูญ” วาระ แห่งชาติ – การขับเคลื่อนในประเด็น “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” อันมาจาก 7 พรรคฝ่ายค้านร่วมมีความเด่นชัดยิ่งว่าจะกลายเป็น “กระแส”

เห็นได้จากที่ปรากฏ ณ เชียงใหม่

การดึงเอานักการเมืองอย่าง นายกษิต ภิรมย์ เข้ามาร้อนแรงอย่างยิ่ง เมื่อเสริมเข้ากับนักการเมืองอย่าง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่เป็นประเด็น

2 คนนี้เคยเป็นขุนพลของพรรคประชาธิปัตย์

ความหมายอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมก็คือ การขับเคลื่อนไปสู่การได้รัฐธรรมนูญ ใหม่นี้ต้องการพรรคประชาธิปัตย์เป็นพันธมิตร

หากมองจากตัวตนของพรรคประชาธิปัตย์อันก่อรูปมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2489 กระทั่งดำรงอยู่ในฐานะอันเป็น “สถาบัน” ในทางการเมือง

ถือว่าเป็นการทำ “แนวร่วม” ที่ทรงความหมาย

ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ พรรคประชาธิปัตย์มีประเด็นมากหลายที่ไม่พอใจต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ตั้งแต่เริ่มยกร่างกระทั่งผ่านประชามติ

คำว่า “ประชาธิปไตยวิปริต” ก็ได้จาก “รัฐธรรมนูญ” นี้

ยิ่งกว่านั้น เงื่อนไข 1 ซึ่งสำคัญในการตัดสินใจขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นทิศทางเดียวกันกับ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นั่นก็คือ จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐธรรมนูญให้จงได้

นี่คือ สัญญาประชาคม

ยิ่งกว่านั้น การที่รัฐบาลบรรจุการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ให้เป็นนโยบาย “เร่งด่วน” ของรัฐบาลยิ่งทำให้กลายเป็น “สัญญาประชาคม” ที่จำหลัก หนักแน่น

ทั้งต่อรัฐบาล ทั้งต่อพรรคประชาธิปัตย์

การขับเคลื่อนของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านในอีกด้านหนึ่งจึงเท่ากับเป็นการสำนองและสร้างหนทางสะดวกให้กับรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ

จึงน่าเชื่อว่า การขับเคลื่อน “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” ที่เริ่มคิกออฟนับแต่วันที่ 4 สิงหาคมเป็นต้นไปจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น

อย่างน้อยก็จะไม่มีการสกัดและขัดขวาง

เพราะตามแผนรณรงค์ที่เริ่มจากเชียงใหม่จะลงลึกไปในแต่ละจุดตลอดทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่าโฉมของรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นอย่างไร

นี่เท่ากับเป็นการเขย่าทางการเมืองที่เข้มข้นอีกวาระหนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน