คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ในที่สุด คสช.และรัฐบาลก็มาถึง “สถานการณ์” สำคัญอันจำเป็นต้องเลือกโดยมีประดิษฐ์กรรมจาก “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” เป็นหมุดหมายที่ยากจะเลี่ยงได้ มติในที่ประชุมเมื่อวันที่ 31 มีนาคม คือ “คำตอบ”

จุดเสี่ยงอย่างทรงความหมายยิ่งก็คือ ไม่ว่าทางออกของที่ประชุมจะเป็นการผ่านความเห็นชอบ ไม่ว่าทางออกของที่ประชุมจะเป็นการผ่านความเห็นชอบแต่แก้ไขเพิ่มเติม

ล้วนแต่ก่อให้เกิดความหงุดหงิด ความไม่พอใจ เพราะว่าการเสนอ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ขึ้นมาสร้างความรู้สึก 2 ความรู้สึกซึ่งแตกต่างกันอย่างชนิดคนละทิศ คนละด้าน

ด้าน 1 ชโยโห่ร้อง ด้าน 1 สาปแช่ง ไยไพ

แบ่งอย่างง่ายๆ จากปฏิกิริยาของ กลุ่ม น.ส.รสนา โตสิตระกูล และจากปฏิกิริยาของกลุ่ม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ขึ้นอยู่กับ “ทางออก” จะเอนไปด้านใด

แน่นอน หากเอนไปในแนวทางของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล เด่นชัดยิ่งว่าแนวทางของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ย่อมจะหงุดหงิด ไม่พอใจ

ในทางกลับกัน หากเอนไปในแนวทางของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กลุ่มที่อยู่ในแนวทางของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ก็ย่อมจะหงุดหงิดไม่พอใจ

เรียกว่าต้องรับทั้งขาขึ้นและขาล่อง

จะเลือกแนวทางในแบบ “หลวงมุ่งกระแทกกลาง” คือ สร้างความพอใจให้กับทั้งกลุ่มของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล และกลุ่มของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ก็ยากแค้นแสนเข็ญอย่างยิ่ง

นี่คือปัญหา นี่คือประเด็น

เหมือนกับว่าโลกนี้มีทางสายกลาง แต่ในบางปัญหา บางประเด็น แทบไม่เหลือหนทางสายกลางให้สามารถเลือกได้

เพราะอยู่ระหว่างคำว่า “เลือก” กับ “ไม่เลือก”

คำว่า “ไม่เลือก” ให้ความหมายในทางตรงกันข้ามกับคำว่า “เลือก” เหมือนกับเป็นการถอยห่างออกมาจากความขัดแย้ง

แต่ในเรื่องของ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” มีความซับซ้อน ภายในคำว่า “ไม่เลือก” จึงเท่ากับเป็น “การเลือก” อย่างหนึ่ง เพียงแต่แตกต่างออกไปจากแนวทางหลักของ “การเลือก” ที่ดำรงอยู่เท่านั้นเอง

ตรงนี้ต่างหากที่จะก่อให้เกิด “ปัญหา” ตามมา

อย่างไรก็ตาม หากสอบค้นฐานที่มาของ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” อย่างรอบด้านก็จะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

เข้าใจว่า แม้ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” จะเหมือนกับมาจากกลุ่ม น.ส.รสนา โตสิตระกูล แต่ก็ผ่านการพยักหน้าเห็นชอบด้วยจาก “ครม.” ไม่ต่ำกว่า 2 หน

จึงเท่ากับเป็นงาน “สายตรง” อันมาจากคสช.และจากรัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน