2 แนว คำตอบ ถวายสัตย์ ปฏิญาณตน 2 ฝ่าย การเมือง : วิเคราะห์การเมือง

2 แนว คำตอบ ถวายสัตย์ ปฏิญาณตน 2 ฝ่าย การเมือง – เพียงแค่ 2 เดือนหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการขานชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องประสบเข้ากับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป

ทั้งๆ ที่มีเสียงขานรับ 500 เสียง

เป็นเสียงอันมาจากสภาผู้แทนราษฎร 251 ประสานเข้ากับเสียงอันมาจากวุฒิสภา 249 เสียงอันเปี่ยมด้วยความพร้อมเพรียง

นั่นเป็นเพราะการเล่นเกมของฝ่ายค้านหรือ

ไม่ใช่หรอก เพราะว่าสารตั้งต้นอย่างเด่นชัดมาจากการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนของครม. อันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นต้นเสียง

รากที่มาแห่งการจำต้องยื่นญัตติขอเปิด อภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติของ 214 ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมมาจาก 2 ส่วน

1 มาจากการถวายสัตย์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม

มีความเด่นชัดด้วยภาพและเสียงผ่าน “ข่าวราชสำนัก” ว่าคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เพียงแต่ขาดประโยคสำคัญ หากแต่ยังมีการต่อเติมเข้าไป

1 มาจากวิธีการเตะถ่วง รั้งดึง อย่างเสียเวลาเปล่า

ไม่เพียงแต่ไม่ยอมรับต่อคำทักท้วงด้วยความปรารถนาดีจากฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม หากแต่ยังโยกโย้ไม่ยอมมาให้คำตอบแก่สภาจนถึงวันที่ 16 สิงหาคม

จึงเด่นชัดอย่างที่สุดว่า ไม่ว่าจะเป็น 1 การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 16 กรกฎาคม และ 1 การหลบหนีการตอบคำถามต่อสภาของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ล้วนเป็นการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง

วิธีการเตะถ่วง หลบหนี ไม่กล้าเผชิญกับคำถามและความเป็นจริงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นนี้เองที่ทำให้เรื่องที่สมควรจะจบ กลับไม่จบ

มีความจำเป็นต้องนำมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญมาแก้ไขปัญหา

เป็นการแก้ไขบนหนทางของระบอบรัฐสภาอาศัยเวทีแห่งรัฐสภามาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาคำตอบและทางออกที่เป็นคุณและสร้างสรรค์

หากกระบวนการของฝ่ายค้านเป็นกระบวนการทางการเมือง ก็ต้องยอมรับว่านี่คือกระบวนการที่สร้างสรรค์ และเป็นคุณ

เป็นการชี้และขยายจุดเด่นของหนทางรัฐสภา

ขณะเดียวกัน หากฝ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงการปัดปฏิเสธ ไม่ยอมรับและหาทางหลีกเลี่ยงก็จำเป็นต้องรับผิดชอบเอง

ที่สำคัญคือ การไม่เชื่อมั่นในระบบ “รัฐสภา” อย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน