คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

สถานการณ์ความพยายามในการปิดกั้นเสรีภาพทางโซเชี่ยล มีเดีย อาจนำไปสู่การปรากฏขึ้นของ “พลเมือง ต่อต้าน ซิงเกิล เกตเวย์”

สถานการณ์ “ย้ายหมุด” ก็เช่นเดียวกัน

แม้ปฏิบัติการ “ย้ายหมุด” ในห้วงต้นเดือนเมษายนจะดำเนินอย่างปิดเป็นความลับอย่างสุดยอด แต่แต่ละรายละเอียดก็ปรากฏ

จุดเริ่มต้น คือ เว็บเพจ “หมุดคณะราษฎร”

หากไม่มีการรายงานผ่านเว็บเพจ “หมุดคณะราษฎร” ในวันที่ 14 ตอนเช้าของวันที่ 15 เมษายน คงไม่ปรากฏผ่านหัวข่าวหน้า 1 อย่างอึกทึกเรื่องการเปลี่ยน “หมุด”

ไม่ว่า “ข่าวสด” ไม่ว่า “ไทยรัฐ“ ล้วนเป็นข่าวระดับ “หัวไม้”

จากนั้น กรณีการ “ย้ายหมุด” ก็กลายเป็นกระแสอย่างที่เรียกว่า “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ความสงสัย คลางแคลงใจ แพร่กระจายยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง








Advertisement

บทบาทของสื่อหนังสือพิมพ์อันถือว่าเป็นสื่อเก่า สื่อกระดาษ คือ การขยายกรอบและขอบเขตของข่าวออกไปอย่างกว้างขวาง

แรกสุดก็คือ การพุ่งไปยัง “เขตดุสิต”

เพราะว่าบริเวณที่ตั้งของ “หมุดคณะราษฎร” ตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2479 คือ พื้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า อันถือว่าอยู่ในความรับผิดชอบของเขตดุสิต

แต่คำตอบก็คือ รู้ว่ามีการเปลี่ยนหมุด แต่ไม่รู้ว่าหน่วยงานใดทำ

ต่อมาคำถามพุ่งตรงไปยัง “กรมศิลปากร” เพราะว่า “หมุดคณะราษฎร” ในแง่วัตถุโบราณดำรงอยู่อย่างสัมพันธ์กับพื้นที่ของพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกรมศิลปากร

แต่คำตอบก็คือ “หมุดคณะราษฎร” มิได้อยู่ในความรับผิดชอบของ “กรมศิลปากร”

การเปิดประเด็นของ “สื่อออนไลน์” เมื่อประสานเข้ากับการติดตามเสาะหารายละเอียดเพิ่มเติมของ “สื่อหนังสือพิมพ์” ทำให้กระบวนการข่าวดำเนินไปอย่างรอบด้าน

โดยเฉพาะจากคำตอบประเภท “ไม่รู้”

สร้างความสงสัยเป็นอย่างสูง เพราะการดำรงอยู่ของ “หมุดคณะราษฎร” เป็นเรื่องที่เริ่มจากกระทรวงมหาดไทยเมื่อปี 2479 และบัดนี้มาอยู่ในความรับผิดชอบของกทม.และกรมศิลปากร เหตุใดจึงกลายเป็นเรื่องลี้ลับ

เริ่มต้นอย่างไร แปรเปลี่ยนไปอย่างไร ไม่มีใคร “ตอบ” ได้

ความสงสัยยิ่งเพิ่มทวีขึ้นเป็นลำดับเมื่อไม่มีการแสดงบทบาทจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งอยู่ไม่ห่างเท่าใดนัก และไม่มีการแสดงท่าทีแต่อย่างใดจากบรรดาทหารไม่ว่าจะในกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 หรือสนามเสือป่า

ยิ่ง “โฆษกรัฐบาล” ก็ยอมรับว่าไม่รู้เรื่องนี้ ยิ่งกลายเป็นประเด็น

เมื่อมีความสงสัยอันกลายเป็นปัญหาสถานการณ์ทางด้านสื่อหนังสือพิมพ์มีแววว่าอาจเงียบหายจางจาก

แต่นั่นมิได้หมายความว่า บทบาทของ “สื่อออนไลน์” จะพลอยเงียบเชียบไปด้วย ตรงกันข้าม กลับมากด้วยข้อมูล กลับมากด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แตกแขนงไปมากมาย

เท่ากับภาระทั้งหมดยังเป็นของ “สื่อออนไลน์” มากยิ่งขึ้น เป็นลำดับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน