คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

เห็นข่าวกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เตรียมร้องทุกข์กล่าวโทษ นายวัฒนา เมืองสุข ต่อกรณี “หมุดคณะราษฎร”

ก็บังเกิดอาการ “เสียว”

เพราะรู้อยู่เป็นอย่างดีว่า หลังจากร้องทุกข์กล่าวโทษ สิ่งที่จะตามมาก็คือ การออก “หมายเรียก” และหลังจาก “หมายเรียก” ก็จะก้าวไปสู่ “หมายจับ”

นึกแล้วก็ใจหาย

เหมือนกับจะใจหายต่อชะตากรรมในทางคดีความของ นายวัฒนา เมืองสุข แต่เอาเข้าจริงๆ ลองร้องทุกข์กล่าวโทษโดยไม่เลือกว่าจะต้องเป็นคนดังอย่าง นายวัฒนา เมืองสุข

ก็จะมีคนที่จะถูก “ร้องทุกข์ กล่าวโทษ” มากมาย

เพราะเรื่องอันเกี่ยวกับ “หมุดคณะราษฎร” กำลังอยู่ในประเด็นอันเป็นข้อถกเถียงทั้งในทางประวัติศาสตร์และการเมือง

หมายเรียก หมายจับ อาจสยบได้ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป

ขอให้ไปดูบทเรียนและประสบการณ์จากกรณีของวัดพระธรรมกายและโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ พระไชยบูลย์ ธัมมชโย มาเป็นตัวอย่าง

เริ่มจาก 1 คดีในเดือนพฤษภาคม 2559

ตั้งแต่โดย “หมายเรียก” ตามมาด้วย “หมายจับ” และตามมาด้วย “หมายค้น” เพียงแค่นี้ก็น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้เพิ่มความระมัดระวัง

เพราะเฉพาะ “หมายค้น” ก็มีไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง

ครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2559 ครั้งที่ 2 ในเดือนธันวาคม 2559 ครั้งที่ 3 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560

ในที่สุดก็มีมากกว่า 300 คดี ในที่สุดก็ต้องใช้ “มาตรา 44”

ประเด็นมิได้อยู่ที่ว่าตกลงการกล่าวหาจากดีเอสไอประสานเข้ากับตำรวจกรณีของ “วัดพระธรรมกาย” ลงเอยอย่างไร

มีคำพิพากษามาแล้วหรือยังว่า “ผิด”

ยิ่งกว่านั้น การออกหมายจับ พระไชยบูลย์ ธัมมชโย อันนำไปสู่ “หมายค้น” ครั้งแล้วครั้งเล่าสามารถจับตัว พระไชยบูลย์ ธัมมชโย ได้แล้วหรือยัง

หรือเสมอเป็นเพียงการออก “ใบสั่งยา” โดยไม่สนใจ “ผล”

ต่อกรณีของ “หมุดคณะราษฎร” ก็อีหรอบเดียวกัน รูปการณ์จะมิได้จำกัดเฉพาะ นายวัฒนา เมืองสุข เท่านั้น หากยิ่งนานยิ่งบานออกไปอย่างมหาศาล

ยากยิ่งที่จะจำกัดกรอบ และควบคุม

ปมเงื่อนอยู่ที่การทำทุกอย่างด้วยมาตรฐานเดียว อย่างที่เน้นเสมอก็คือ “กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย”

หากกฎหมายเป็นกฎหมาย กรณีของ “หมุดคณะราษฎร” จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค และเป็นธรรมเหมือนกับกรณีของ “หมุดหน้าใส”

เมื่อมี “สองมาตรฐาน” เสียแล้ว ความยุติธรรมก็ยากที่จะบังเกิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน