คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ทั้งๆ ที่มี “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” อยู่ในอุ้งมือ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญเปิดบทเฉพาะกาลให้สามารถใช้ “มาตรา 44” ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ได้

แล้วเหตุใด “อาการ” อันมาจาก “แม่น้ำ 5 สาย” จึงแปลก-แปลก

ไม่ว่าจะเป็นการยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. ไม่ว่าจะเป็นการยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส.

ชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดยิ่งของ “ความกลัว”

เป็นความกลัวที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เป็นความกลัวที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ตอนแรกกลัว “ไทยรักไทย” ตอนนี้กลัว “เพื่อไทย”

ที่ว่าน่าแปลกเพราะ “ผลงาน” และ “ความสำเร็จ” จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ยังไม่เพียงพอต่อการสยบ “ไทยรักไทย” หรอกหรือ

เพราะ “ทักษิณ” ก็กลายเป็น “บักน่อยตุหรัดตุเหร่” ไปแล้ว

ที่ว่าน่าแปลกเพราะ “ผลงาน” และ “ความสำเร็จ” จากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ยังไม่เพียงพอต่อการสยบ “เพื่อไทย” หรอกหรือ

วันที่ 25 สิงหาคมก็น่าจะมี “คำตอบ”

ก่อนหน้านั้น ไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่า นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ไม่ว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ล้วนถูก “ถอดถอน” เรียบร้อยป.ป.ช.และสนช.มิใช่หรือ

แล้ว “เพื่อไทย” จะยังเหลือฤทธิ์เดชอะไรอยู่อีก

เพียงรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ 250 ส.ว. มาจากการบริหารจัดการของคสช.ก็เท่ากับมีสมาชิกรัฐสภาจำนวน 250 คนอยู่ในกำมือแล้วอย่างเบ็ดเสร็จ

ผนวกรวมเข้ากับ ส.ส.พวกเดียวกันจำนวนหนึ่งก็เรียบร้อย

แล้วทำไมต้องเอาระบบ “ไพรมารี โหวต” มาเขย่าขวัญ แล้วทำไมต้องเอาระบบเลือกตั้งแบบ “แยกเบอร์” มาเขย่าขวัญ

ถึงอย่างไรการเลือกตั้งก็อยู่ในสภาพเบี้ยหัวแตกแน่นอน

พรรคเพื่อไทยแหลกละเอียดตามเป้าหมายแล้วยังไม่พออีกหรือ ยังต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา แหลกละเอียดตามไปด้วยอีกหรือ

ทุกอย่างต้องการความเบ็ดเสร็จ ความเด็ดขาด

ท่วงทำนองของคสช.อันสำแดงผ่าน “แม่น้ำ 5 สาย” เหมือนกับจะสะท้อนให้เห็นความรอบคอบและรัดกุมในการบริหารจัดการ

บนพื้นฐานที่มิให้เกิดสภาพ “เสียของ”

กระนั้น ก็อย่าลืมบทเรียนจาก “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540” ที่วางเป้าหมายอย่างหนึ่ง แต่ผลกลับกลายเป็นอีกอย่างหนึ่งชนิดนอกเหนือความคาดหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน