คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

เหมือนกับเป้าหมายของคสช.คือ พรรคเพื่อไทย คือ นปช.คนเสื้อแดง อันเป็นพันธมิตรในแนวร่วมของพรรคเพื่อไทย

เป็นเช่นนั้น

หากดูจากรัฐธรรมนูญ ประสานเข้ากับการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นได้ชัดว่าคสช.ยังดำรงจุดมุ่งหมายเหมือนกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่แปรเปลี่ยน

เพียงแต่ทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

เป็นความเข้มข้นที่จะให้หลักประกันว่า พรรคเพื่อไทยมิอาจอาศัยกลไกการเลือกตั้งมาอำนวยประโยชน์ให้กับตนเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในกาลอดีต

ไม่ว่าเมื่อปี 2550 ไม่ว่าเมื่อปี 2554

อย่างไรก็ตาม ผ่านจากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนพฤษภาคม 2560 นอกเหนือจากความเข้มที่มุ่งทำหมันให้กับพรรคเพื่อไทยแล้ว

ยังเป็นความเข้มในลักษณะ “ข้างเคียง”

เหมือนกับว่ามาตรการต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ มาตรการต่างๆ ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะอวยประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองทุกพรรคยกเว้นพรรคเพื่อไทย

เท่ากับเป็นการดำรงแผนบันได 4 ขั้นที่คมช.กำหนดไว้

แต่เอาเข้าจริงๆ มาตรการต่างๆ ไม่ใช่ว่าผลสะเทือนจะมีต่อพรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียว ตรงกันข้าม พรรคการเมืองอื่นก็ต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย

เห็นได้จากความหงุดหงิดต่อระบบไพรมารี่โหวต

จากนี้จึงเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า เมื่อเป้าหมายตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 คือ นักการเมืองหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 นักการเมืองก็ยังเป็นเป้าหมาย

ไม่ว่านักการเมืองของพรรคเพื่อไทย หรือของพรรคประชาธิปัตย์

อาการโวยวายอันประสานมาจากพรรคประชาธิปัตย์ และรวมถึงพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังชล นับว่าเด่นชัด

เดือดร้อนกันทุกหย่อมทุกย่าน

ในเมื่ออาการกระจัดกระจาย ดำเนินไปในแบบเบี้ยหัวแตก คือเป้าหมาย มาตรการทุกอย่างอันเกี่ยวกับ พรรคการเมืองและการเลือกตั้งล้วนเดินไปยังจุดนี้

มีก็แต่พรรคการเมืองที่ซบใต้ปีกคสช.เท่านั้นที่ยิ้มกริ่ม

อาจเห็นเป็นเรื่องแปลกที่เสียงอันดังมาจากพรรคการเมืองของนักการเมือง กลับไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังเท่าที่ควร

เท่ากับสะท้อนให้เห็น “พลัง” ของ “นักการเมือง”

เพราะนักการเมืองจำนวนหนึ่งหันไปสยบยอมกับอำนาจที่มาจาก “รัฐประหาร” นั่นเอง การดูหมิ่นดูแคลนต่อนักการเมืองจึงเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน