หนังสือจาก “สตง.” ที่ส่งไปยังกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม ตั้งข้อสังเกตว่ามีบาง “อปท.” หลอกคนมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริเวณหน้าศาล

ดำเนินไปในลักษณะ 2 คม

ข้อมูลและความเห็นอันมาจาก “สตง.” ก็อีหรอบเดียวกันกับข้อมูลและความเห็นอัน “สนช.” นำมาปูดในกรณีเงินว่าจ้าง 1,500 บาทต่อคนนั้นเอง

เป้าหมายต้องการเสริมความหมายให้กับ “แผนกรกฎ 52” แน่นอน

แต่ภายในการเล่นบท “ไอ้ห้อย ไอ้โหน” ในทางการเมืองเพื่อสกัดสถานการณ์ในวันที่ 25 สิงหาคมนั้น กลับกลายเป็นการเปิดโปงและสะท้อนจุดอ่อนความบกพร่องออกมา

ที่น่าเป็นห่วง คือ จุดอ่อนของ “คสช.”

อย่าลืมเป็นอันขาดว่าอำนาจอันเบ็ดเสร็จและเด็ดขาดอยู่ในมือของ “คสช.” ตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาแล้ว

ไอ้ห้อยไอ้โหนที่ได้เป็น “สนช.” ก็เพราะอำนาจนี้

เวลา 3 ปีเศษจากเดือนพฤษภาคม 2557 เรื่อยมาจนถึงเดือนสิงหาคม 2560 เป็นเวลา 3 ปีเศษที่มีการจัดระบบให้กับโครงสร้างการปกครองอย่างเฉียบขาด

กล่าวเฉพาะ “องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น” หรือ อปท.ก็ไม่มีเว้น

เป็น 3 ปีเศษของการใช้อำนาจตามมาตรา 44 โยกย้ายคนที่สงสัยว่าสัมพันธ์กับบางพรรคการเมือง บางนักการเมือง แล้วแต่งตั้งคนที่มั่นใจว่าเป็นพวกของตนเข้าไปแทนที่

หายากอย่างยิ่งที่คนซึ่งฝักใฝ่ “เพื่อไทย” จะมีที่ยืน

คำฟ้องอันมาจากความปรารถนาดีของ “สตง.” ที่ส่งตรงไปยังกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม จึงเท่ากับเป็นการฟ้องว่าภายใน “อปท.” ยังมีช่องว่างรอยโหว่

เป็นไปได้อย่างไร

กระทรวงกลาโหมอาจไม่มีความเห็นอะไร เพียงแต่นำเอาหนังสือจาก “สตง.” มาขยายผลและกำชับแนวทางเดิมผ่านกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.)

แต่กระทรวงมหาดไทยทำตามน้ำแบบนั้นไม่ได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งกำกับ อปท.โดยตรงจึงต้องสั่งการผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอให้มีการตรวจสอบ แล้วผลก็ออกมาอย่างที่เชื่อกันตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แล้ว

นั่นก็คือ ไม่พบพฤติการณ์อย่างที่ “สตง.” ระบุ

ทุกอย่างจึงน่าจะดำเนินไปอย่างที่เชื่อและคาดหมายว่า อนาคตของหนังสืออันมาจาก “สตง.” จะลงเอยอย่างไรหลังสถานการณ์วันที่ 25 สิงหาคม

นั่นก็คือ หายไปอย่างเงียบเชียบ ไร้ร่องรอย

การตรวจสอบอย่างที่ “สตง.” สันทัดก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น “สตง.” ก็สามารถเล่นบท “สนองนาย” เหมือนกับที่ “สนช.” บางคนได้ออกมาปฏิบัติแล้วตามบทบาท

ทุกคนล้วนหายใจด้วยความโล่งอก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน