ไม่ว่าข้อเสนอว่าด้วย “รัฐบาลแห่งชาติ” ไม่ว่าข้อเสนอว่าด้วย “เปรมโมเดล” อันมาจากสมองก้อนโตของ นายพิชัย รัตตกุล สะท้อนให้เห็นความปรารถนาดีต่อคสช.

1 ยอมรับว่า “อำนาจ” ยังเป็นของ “คสช.”

เมื่ออำนาจยังอยู่ในมือของคสช. เพราะว่ารัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้เช่นนั้น เพราะว่าคสช.เองก็ต้องการจะรักษาอำนาจของตนเอาไว้

1 จึงต้องขุดเอา “เปรมโมเดล” มาเป็นทางออกให้

แม้ไม่สามารถประกาศว่าเป็น “รัฐบาลแห่งชาติ” โดยตรง แต่เมื่อผ่านกระบวนการแห่ง “เปรมโมเดล” นั่นก็หมายถึงรูปของรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมือง

โดยมีคนของ “คสช.” เป็น “นายกรัฐมนตรี”

แม้คสช.จะมี 250 ส.ว.อยู่ในมือแล้วอย่างจำหลักหนักแน่น แต่หากไม่มีองค์ประกอบจาก ส.ส.และจากพรรคการเมืองก็ยากที่จะบริหารราชการแผ่นดินได้

จึงได้เสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” จึงได้เสนอ “เปรมโมเดล”

แสดงว่าปัญหาที่ นายพิชัย รัตตกุล มองเห็นก็คือ พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยมีความสำคัญ

เพราะแม้จะมีพรรคภูมิใจไทยก็ยังไม่เพียงพอ

เพราะแม้จะผนวกตัวรวมพลังระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมกับ 250 ส.ว.หนุนให้คนนอกอันเป็นคนของคสช.เป็นนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่เพียงพอ

จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากพรรคเพื่อไทย

หากดูจากสภาพความเป็นจริงของ 1 กระบวนการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา และ 1 กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนธันวาคม 2551

การร่วมระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยเป็นไปได้

แต่สภาวะที่เรียกได้ว่ายังเป็นความไม่แน่นอนในทางการเมืองก็คือ ความมั่นใจอย่างชนิดร้อยละร้อยในการดึงเอาพรรคเพื่อไทยให้มาร่วมด้วย

ปัญหาอยู่ที่พรรคเพื่อไทยยืนกระต่ายขาเดียวขอเป็น “ฝ่ายค้าน”

ขณะเดียวกัน การพร้อมเป็นพรรคฝ่ายค้านของพรรคเพื่อไทยก็จะกลายเป็นยุทธศาสตร์ในทางการเมืองและในการเลือกตั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

ถามว่ายุทธศาสตร์นี้จะเป็นผลดีหรือเป็นผลเสีย

หากดูจากกระบวนท่าอันมาจาก นายพิชัย รัตตกุล ก็พอจะมองออกว่าแนวโน้มการเลือกตั้งครั้งต่อไปยากเป็นอย่างยิ่งที่จะเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้อย่างง่ายดาย

และเป็นไปได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะถล่มทลาย

และหากพรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะแต่ไม่ยอมเป็นรัฐบาล หรือไม่ยอมร่วมรัฐบาลนั่นก็คือ ล็อก 1 ในทางการเมือง เพราะยากที่รัฐบาลจะบริหารได้อย่างราบรื่น

ตรงนี้แหละจึงเกิดข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติและเปรมโมเดล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน