พลันที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หลุดคำว่า “ประชาชนไม่อยากให้เลือกตั้ง ไม่ใช่หรือ” ออกมาระหว่างตอบคำถามของนักข่าว

อะไรคือสิ่งที่ผู้คนนึกถึง

1 นึกถึงผลการสำรวจของสิ่งที่เรียกว่า “ซูเปอร์โพล” ที่ออกมาสะท้อนเสียงเชียร์ต่อคสช.และรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะเรื่องคะแนนและความนิยมต่อ “คสช.”

ขณะเดียวกัน 1 ก็นึกถึงคำกล่าวของ นายประภัตร โพธสุธน ผู้อาวุโสทางการเมืองแห่งพรรคชาติไทยพัฒนาที่เพิ่งบอกกับนายกรัฐมนตรีให้อยู่ต่อไปอีกโดยไม่จำเป็นต้องเลือกตั้ง

เหล่านี้แหละคือสิ่งที่เรียกว่า “ประชาชน”

ในความเป็นจริง ความเรียกร้องต้องการให้มี “การเลือกตั้ง” อันดังกระหึ่มอยู่ในขณะนี้ก็มิได้เป็นการเร่งเร้าอะไรที่เกินเลย

ตรงกันข้าม เป็นการเรียกร้องที่อยู่ภายใน “กรอบ”

เป็นกรอบอย่างที่คสช.และรัฐบาลเรียกว่า “โรดแม็ป” อันเท่ากับเป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนไทยและประชาคมโลก

และกรอบนี้ก็มาจากบทบัญญัติของ “รัฐธรรมนูญ”

ขนาดเสียงเรียกร้องเป็นการทำไปตามที่คสช.และรัฐบาลกำหนด เป็นการทำไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ยังสร้างความหงุดหงิดไม่พอใจ

จึงได้หลุดคำ “ประชาชนไม่ต้องการให้เลือกตั้ง มิใช่หรือ”

การที่ใช้คำว่า “หลุด” ต่อรูปประโยคที่ว่า “ประชาชนไม่ต้องการให้เลือกตั้ง มิใช่หรือ” เพราะมองว่าความรู้สึกและความต้องการนี้ซ่อนแฝงอยู่ภายในความคิด

นั่นก็คือ อยากอยู่ยาวโดยไม่มี “การเลือกตั้ง”

เหมือนรัฐบาลยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 จากยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร กว่าจะมีเลือกตั้งก็ในปี 2512

เป็นความต้องการของ “นักรัฐประหาร” ทุกคน

แต่ก็เป็นความต้องการที่มองข้ามความเป็นจริงที่ตามมา ไม่ว่าในกรณีของ จอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ว่าในกรณีของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่ว่าในกรณีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ว่าเป็นอย่างไร

เพราะในที่สุดแล้วก็กลัว “การเลือกตั้ง”

ยิ่งการเลือกตั้งนับแต่เดือนมกราคม 2544 ต่อเนื่องมายังเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นเวลา 10 ปีแห่งการหลอกหลอนอันน่ากลัวยิ่ง

เพราะชัยชนะอยู่ในมือของพรรคและนักการเมืองกลุ่มเดียว

เริ่มจากพรรคไทยรักไทยในปี 2544 ตามมาด้วยพรรคพลังประชาชนในปี 2550 และตามมาด้วยพรรคเพื่อไทยในปี 2554

ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ล้วนเป็นพรรคเดียวกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน