เห็นกรณีของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แล้วรู้สึก “สยอง” ในหัวใจเป็นอย่างยิ่ง นึกไม่ถึงว่าความขัดแย้งตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

จะ “ปลายบาน” ใหญ่แล้วถึงระดับนี้

ปฏิกิริยาต่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็น 1 ในคณะกรรมการภายในคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ เป็นไปอย่างชนิดที่เรียกว่า “สุดขั้ว”

ไม่ว่าจะจากฝ่ายที่เห็นด้วย ไม่ว่าจะจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

การตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงดำเนินไปด้วยความยากลำบากเป็นอย่างสูง

ไม่ว่าจะรับ ไม่ว่าจะปฏิเสธก็ตาม

กล่าวสำหรับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แม้ว่าจะเคยร่วมรัฐบาลกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ดำเนินไปเหมือนกับการร่วมรัฐบาลของอีกหลายคน

ไม่ว่าจะเป็น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นนักธุรกิจและเป็นผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาก่อน

ท่านเหล่านี้ไม่ใช่ “นักการเมือง” โดยตรง

แม้ภายหลังสถานการณ์จะรุกไล่และทำให้ต้อง “เลือกข้าง” แต่ก็ยังดำรงสถานะของความเป็นอดีตข้าราชการประจำ ความเป็นนักธุรกิจ ความเป็นนักวิชาการอยู่

มิได้มีภาพของ “ฮาร์ดคอร์” ประเภทร้อนแรงทางการเมือง

คนอย่าง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คนอย่าง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และคนอย่าง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ มีอยู่เป็นจำนวนมาก

เรียกตามภาษาการเมือง คือคนที่จะต้องไป “สามัคคี”

การไปสามัคคีในที่นี้ก็คือ ดำเนินการให้เขามาเห็นอกเห็นใจและเอนเอียงมาทางฝ่ายของตน เพื่อจะได้เป็นกำลังในการขับเคลื่อนทางการเมือง

ภายใน “สามัคคี” ก็มีการต่อสู้

แต่มิได้หมายถึงการต่อสู้อย่างเหี้ยมโหด ไม่ปรานีปราศรัย แค่ผิดไปจากความนึกคิดของตนบ้างก็ไม่ยินยอมอ่อนข้อ เหมือนอย่างที่รู้สึกและแสดงออกต่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ท่าทีแบบสุดโต่งเช่นนี้ไม่ว่าจะแบบใด ก็ “อันตราย”

ภาวะ “สุดโต่ง” หรือภาษาการเมืองแบบเดิมที่เรียกว่า “ซ้ายจัด” หรือ “ขวาจัด” ล้วนเป็นการแสดงออกที่เป็นอันตรายทั้งสิ้น

เพราะว่าเป็นลักษณะที่ไม่ยอมฟังใคร

ยิ่งคนเหล่านี้มีบทบาทมากเพียงใด ยิ่งทำให้ปัญหาและความขัดแย้งจากเล็กก็จะขยายเป็นใหญ่ เกิดสภาพ “ปลายบาน” ยากที่จะแก้ไขให้จบลงอย่างราบรื่น

“อาการ” สุดโต่งแบบนี้กำลังเกิดขึ้นและแพร่ระบาดอย่างสูง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน