วิเคราะห์การเมือง

ไม่มีสถานการณ์ใดที่จะฉายสะท้อนให้เห็นศักยภาพในการบริหารจัดการของ คสช.และรัฐบาลได้เด่นชัดเท่ากับกรณีอันเกิดขึ้นในกระทรวงแรงงาน

ไม่ว่าจะมองจากการใช้ “มาตรา 44”

ไม่ว่าจะมองจาก “ปฏิกิริยา” อันนำไปสู่การตัดสินใจยื่นใบลาออกจากตำแหน่งของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ความหมายหมายความว่า รับไม่ได้ ต่อ “คำสั่ง”

ไม่ว่าในที่สุดแล้ว ผลจากการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ย้ายอธิบดีกรมการจัดหางานออกจากตำแหน่งอย่างชนิดฟ้าผ่านี้จะลงเอยอย่างไร

แต่ไม่เป็นผลดีต่อ คสช.และต่อรัฐบาล

หากประเมินจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ย้ายอธิบดีกรมการจัดหางานออกจากตำแหน่งก็จะมองเห็นในความผิดพลาดอย่างเด่นชัด

เพราะเป็นเรื่องอันเกิดขึ้นในยุค “คสช.”

กล่าวคือ เกิดขึ้นหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ยากเป็นอย่างยิ่งว่าจะถือว่าอธิบดีคนนี้เป็นผลผลิตจากการบริหารจัดการของรัฐบาลก่อน

เป็นการเข้ามาดำรงตำแหน่งโดยการเลือกของ “รัฐมนตรี”

เป็นการเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมการจัดหางานโดยมติของคณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นประธาน
แต่แล้วก็มีคำสั่งตามมาตรา 44 ปลดออก

การยื่นใบลาออกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล จึงเท่ากับเป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งตามมาตรา 44 โดยตรง

ทั้งมิใช่เป็นการลาออกคนเดียว

หากเป็นการลาออกครบหมดของทีมงาน โดยเฉพาะ พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ที่ทำงานร่วมกันมา 2 ปีกว่า

เท่ากับยืนยันว่า เรื่องนี้ทำกันเป็น “ทีม”

เท่ากับยืนยันว่า คำสั่งตามมาตรา 44 จากการลงนามของหัวหน้า คสช.อาจขาดความรอบคอบและสวนทางกับแนวทางของกระทรวงแรงงาน

จึงไม่สามารถ “ร่วม” อยู่ใน “รัฐบาล” ได้

ปัญหาอันเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม กับ วันที่ 1 พฤศจิกายน จึงเป็นเรื่อง “ภายใน” ของ คสช.และของรัฐบาลโดยแท้

ไม่มี “พรรคการเมือง” เข้าไปเกี่ยวข้อง

บรรดาคน “เสมอนอก” ก็ตกอยู่ในสภาพแบบเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะ นั่นก็คือ รู้เรื่องนี้พร้อมกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ยากยิ่งที่จะไม่ “ปรับครม.”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน