เหมือนกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ห้ามการชุมนุมเกินกว่า 5 คนที่ออกหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะเป็น “แก้วสารพัดนึก” ในการแก้ปัญหา

จากที่เคยสยบพวกเสื้อแดงผ่าน “ขอนแก่น โมเดล”

มาถึงเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 11 และ 12 พฤศจิกายน แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางพาราตรังและพัทลุงก็ถูกเชิญเข้าค่าย “ปรับทัศนคติ”

ตรังก็ค่ายรัษฎานุประดิษฐ์ พัทลุงก็ค่ายอภัยบริรักษ์

รายการทั้งหมดดำเนินการโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ของแต่ละจังหวัด นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดประสานพลเรือน ตำรวจ ทหาร

แล้วการยกขบวนเข้ากทม.ก็ต้องยุติ

ถามว่าเมื่อเรียกตัวเข้าค่ายแล้ว “ปรับทัศนคติ” เท่ากับปัญหาอันเป็นความคับข้องหมองใจได้หมดสิ้นเกิดความเข้าใจมาแทนที่โดยอัตโนมัติอย่างนั้นหรือ

ภาพที่ปรากฏอาจเป็นเช่นนั้น

แต่ถามว่าเป็นไปโดยความสมัครใจหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในภาคเหนือ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในภาคใต้

ทุกอย่างเป็นไปในแบบสงบแต่ไม่ได้ “เรียบร้อย”

ต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อภาคเหนือ อาจเห็นว่าสงบราบคาบ ไม่หือไม่อือ แต่กรณีของภาคใต้ยังไม่มีใครแน่ใจว่าจะเป็นอย่างนั้น

เพราะว่า “ราคายาง” ก็ยังเสื่อมทรุด ตกต่ำ

มาตรการจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ในเรื่องการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนอาจจัดการอย่างได้ผลในปัญหาทางการเมือง

แต่เมื่อประสบเข้ากับปัญหาทาง “เศรษฐกิจ” จะสลับซับซ้อนกว่า

ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับก็คือ ปัญหาอันเนื่องแต่ราคายางพารามิได้เพิ่งเกิดขึ้น ตรงกันข้ามเกิดขึ้นตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาแล้ว

เกิดขึ้นตั้งแต่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ นั่งอยู่กระทรวงพาณิชย์

และนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ มานั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัญหาราคายางพาราก็ดิ่งลงๆ ไม่เคยโงหัวขึ้นแม้แต่น้อย

ทั้งที่ “กยท.” สังกัดกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การเรียกตัวแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางพาราเข้าค่ายเพื่อ “ปรับทัศนคติ” อาจสยบให้พวกเขายอมรับกับคำขอร้องเชิงบังคับจากทางการ

แต่ถามว่าทำให้ราคายางพาราดีขึ้นหรือไม่

ความเป็นจริงนับแต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล คุมงานด้านเศรษฐกิจ กระทั่งงานนี้มาอยู่ในความรับผิดชอบของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็คือ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม

เป็นเหมือนเดิมในลักษณะที่ “รูดลง” เป็นลำดับ
 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน