ไม่ว่า นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ถูกเรียกตัวเข้าค่ายรัษฎานุประดิษฐ์ จังหวัดตรัง ไม่ว่า นายไพรัช เจ้ยชุม ที่ถูกเรียกตัวเข้าค่ายอภัยบริรักษ์ จังหวัดพัทลุง

ล้วนน่าเห็นใจ น่าเอาใจช่วย

เพราะว่า นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน เป็นแกนนำเกษตรกรชาวสวนยาง เพราะว่า นายไพรัช เจ้ยชุม เป็นแกนนำชาวสวนยาง

เขาถูกเรียกปรับทัศนคติก็เนื่องมาจากออกมาเคลื่อนไหว

คำประกาศของพวกเขาที่จะยกขบวนไปชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั่นแหละทำให้ถูกเรียกตัวเข้าปรับทัศนคติในค่ายทหาร

เห็นแล้วรู้สึกคุ้นๆ หรือไม่

หลายคนอาจจะนึกถึงสภาพที่แกนนำชาวบ้านอื่นๆ ถูกเรียกตัวเข้าปรับทัศนคตินับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

ไม่ว่าที่ภาคเหนือ ไม่ว่าที่ภาคอีสาน ไม่ว่าที่ภาคกลางหรือแม้แต่ในกทม.

จะแตกต่างก็เพียงแต่ว่ากรณีอื่นๆ ก่อนเดือนพฤศจิกายน 2560 ปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาในทางการเมือง ขณะที่เรื่องซึ่งเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นปัญหาในทางเศรษฐกิจ

ความจริงปัญหาในทางเศรษฐกิจก็มิได้เพิ่งเกิดขึ้น

เกษตรกรชาวสวนยางได้เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้งตั้งแต่เมื่อปี 2558 เป็นต้นมา แต่ก็เงียบหายไปเพราะว่าผู้มีอิทธิพลทางการเมืองบางคนในภาคใต้ได้ขอร้องและให้เหตุผลว่า อย่าได้เคลื่อนไหวอะไร

เพราะนี่เป็น “รัฐบาล” ของ “พวกเรา”

น่าสังเกตว่าจากเมื่อปี 2558 กระทั่งมาถึงเดือนพฤศจิกายน 2560 ประเด็นการเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยางก็ยังเป็นประเด็นเดิม

นั่นก็คือ ภาวะเสื่อมทรุด ตกต่ำของ “ราคายาง”

สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาในเรื่องราคายางพารายังดำรงอยู่และดำรงอยู่ตั้งแต่ยุค ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มาถึงยุค นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

เมื่อได้รับความเดือดร้อนคำขอร้องของผู้มีอิทธิพลทางการเมืองบางคนในภาคใต้ก็ไม่อาจสกัดขัดขวางการเคลื่อนไหวของเกษตรกรชาวสวนยางได้

จึงต้องใช้อำนาจจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ในที่สุด

ปัญหาอันกำลังเกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวสวนยางแสดงให้เห็นว่า ปัญหาได้กระจายในขอบเขตทั่วประเทศโดยเฉพาะเมื่อเป็นปัญหาเศรษฐกิจ

หลังรัฐประหารอาจเป็นปัญหาในทางความคิด ในทางการเมือง

ปัญหาการเมืองอาจใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.สยบลงได้ แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้มากกว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน