เหมือนกับการตรวจจับอาวุธสงครามและวัตถุระเบิดล็อตใหญ่กลางทุ่งนา จ.ฉะเชิงเทรา เป้าจะชี้ไปที่ “โกตี๋” และกลุ่มที่เคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ในทางการเมือง

อาจใช่

แต่หากมองจากความเป็นจริงของการตรวจจับอาวุธสงครามและวัตถุระเบิดครั้งแรกในห้วงแห่งสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับการใช้มาตรา 44 จัดการกับกรณีวัดพระธรรมกาย

ก็น่าสงสัยในเงื่อนงำและความเป็นไปได้

เพราะกล่าวสำหรับ “โกตี๋” หลังจากมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการถูกชายชุดดำ “อุ้ม” จากบ้านในประเทศเพื่อนบ้านหลังหนึ่งก็หมดบทบาทและไร้ร่องรอยอย่างสิ้นเชิง

มาโผล่อีกครั้งก็ในห้วงแห่งเดือนธันวาคม 2560

มีความจำเป็นที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องให้รายละเอียดอันเกี่ยวกับการตรวจจับอาวุธสงคราม และวัตถุระเบิดกลางทุ่งนา จ.ฉะเชิงเทรา ให้มากกว่านี้

เพื่อเรียกความเชื่อมั่น

การอ้างชื่อของ “โกตี๋” และเครือข่ายเดิมๆ อาจสามารถทำได้ แต่ที่ยืนยันว่าอาจสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองตรงนี้มีความสำคัญอย่างแน่นอน

คำถามก็คือ กลุ่มการเมืองที่ว่านั้นเป็นกลุ่มใด

หากยังสะท้อนออกมาว่ากลุ่มการเมืองที่ถูกกวาดจับในห้วงหลังสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่ว่าในต่างจังหวัดหรือในพื้นที่ กทม.

ก็จำเป็นต้องมีรายละเอียดนำเสนออย่างหนักแน่น

หากจับอาการจากหลายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมาจากพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะมาจากพรรคเพื่อไทย

สะท้อนความรู้สึกสงสัย แคลงใจ

ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นำเอาสถานการณ์ตรวจจับอาวุธสงครามและวัตถุระเบิดโยงเข้ากับเหตุผลที่ คสช.ยังไม่ยอม “ปลดล็อก” ให้กับพรรคการเมือง

ยิ่งทำให้เห็นว่า “นักการเมือง” มองท่าทีของ คสช.อย่างไร

เพราะว่าเดือนพฤษภาคม 2557 ได้ผ่านมา 3 ปีแล้วนับแต่เดือนพฤษภาคม 2560 และความหวังของนักการเมืองก็คือ อยากเห็นการย่างเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

เพื่อให้การเลือกตั้งชี้ทางออกให้กับประเทศ

น้ำหนักที่ว่าสถานการณ์ยังไม่สงบก็ไม่น่าจะปลดล็อก ก็ไม่น่าจะมีการเลือกตั้งเพราะเลือกตั้งความขัดแย้ง และแตกแยกก็ยังเหมือนเดิม

อาจมีน้ำหนักในห้วง 2 ปีแรกหลังรัฐประหาร

แต่เวลา 3 ปีกว่าที่สังคมประเทศไทยอยู่ในความรับผิดชอบในการบริหารจัดการของคสช.และรัฐบาลจะยังเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลก่อนหน้านี้และนักการเมืองเดิมๆ อยู่อีกหรือ

คำถามนี้เสนอต่อ “คสช.” และการรัฐประหารโดยตรง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน