การออกหมายเรียก นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เพียงแต่ไปปรากฏตัว ที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน ก็ถือว่าแปลกอย่างยิ่งอยู่แล้ว

ยิ่งเห็นชื่อ นายวีระ สมความคิด ยิ่งแปลก

เพียงเพราะว่า นายวีระ สมความคิด ไปร่วมเสวนากับ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ซอยทองหล่อ และได้รับการเชิญชวนก็มาตามวิสัยคนที่เคยชินกับปี่กลอง

ยิ่งเห็นชื่อ นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด ยิ่งแปลก

พลันที่ปะเข้ากับชื่อ นายสงวน เจริญรุ่งโรจน์ เจ้าของ “สำนักข่าวหงวน” ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงสื่อมาอย่างยาวนาน ยิ่งเร้าความสนใจ

จาก 7 เป็น 36 รวมเป็น 43 เพิ่มอีก 66 ก็เป็น 109

ถูกต้องแล้วที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียกคดีนี้ว่า “คดีการชุมนุมของกลุ่มเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง” เพราะทั้ง 109 คนล้วนมาจากแต่ละสารทิศเพียงแต่มีเป้าหมายเดียวกัน

นั่นก็คือ เรียกร้องให้มี “การเลือกตั้ง”

ในที่สุด ความเรียกร้องต้องการให้มี “การเลือกตั้ง” ก็อาจจะกลายเป็นปัญหา กลายเป็นอาชญากรรมที่มีความผิดร้ายแรง

ไม่ว่าจะเป็นการขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558

ไม่ว่าจะเป็นการขัดต่อพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยเฉพาะมาตรา 7 วรรคแรก ฐานร่วมกันชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากวังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป

น่ากลัวอย่างยิ่ง

มาตรการนี้ดูขึงขังอย่างยิ่ง แต่ถามว่าการชุมนุมสาธารณะในลักษณะเดียวกันนี้เคยมีขึ้นหรือไม่ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย

ตอบได้เลยว่า เมื่อเดือนมกราคม 2557 ก็เคยมี

ตอบได้เลยว่า มีอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนิสิตจำนวนไม่น้อยเข้าร่วมในการชุมนุมปิดถนนบริเวณแยกปทุมวันมาแล้ว ในรัศมี 150 เมตรจากวังเดียวกันนั้นแหละ

คนเหล่านั้นไม่เพียงแต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ ในทางกฎหมาย ตรงกันข้าม บางคนเคยได้เป็นสปช. และบางคนได้มีบทบาทในการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะตอบคำถามนี้ได้หรือไม่

หากถือว่าการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนมกราคม 2557 เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อบ้านเพื่อเมือง แล้วการเคลื่อนไหวในเดือนมกราคม 2561 ก็เพื่อบ้านเพื่อเมืองเหมือนกันมิใช่หรือ

ทั้งยังมิได้ปิดถนน

ทั้งยังเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อให้มี “การเลือกตั้ง” อันเป็นธรรมนิยมแห่งระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน