วิเคราะห์การเมือง

อุบัติแห่ง “ปรากฏการณ์ น็อต อัครณัฐ” อันเนื่องแต่รถมินิคูเปอร์ ก็เหมือนกับอุบัติแห่ง “หมอเปรมศักดิ์ เพียยุระ” อันเนื่องแต่ภาพข่าวคล้ายกับการสู่ขอนั่นแหละ

เป็น “ปรากฏการณ์” แห่ง “อำนาจ”

เป็นอำนาจอันคน 1 แสดงความเหนือกว่า แสดงความเฉียบขาดมากกว่าสถานะและอำนาจของอีกคน 1 ที่มีอยู่

เป็นความเหนือกว่าเพราะคิดว่าตนเองถูกกว่า ดีกว่า

ถามว่า นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ มีความไม่พอใจต่อบรรดา “ผู้สื่อข่าว” โดยเฉพาะที่มาจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ตกค้างอยู่หรือไม่

ตอบได้เลยว่า มี

ถามว่า น็อต อัครณัฐ หงุดหงิดและไม่พอใจต่อคู่กรณีซึ่งมอเตอร์ไซค์เข้ามาเฉี่ยวและชนกับรถมินิคูเปอร์ของตนหรือไม่

ตอบได้เลยว่า มี

ขณะเดียวกัน คำถามอันเป็นความต่อเนื่องก็คือ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ชมชอบในการจับคนแก้ผ้าแล้วถ่ายรูปหรือไม่

น็อต อัครณัฐ ชมชอบในการทุบตีและทำร้ายคนอื่นหรือไม่

คำตอบหากดำเนินไปด้วยความรอบคอบ ก็ต้องว่า นักข่าวเคราะห์ร้ายเหล่านั้น ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์เคราะห์ร้ายคนนั้น เข้าไปอยู่ในกาละและเทศะพอดี

อารมณ์ความรู้สึกจึงพลุ่งพล่านและสำแดงออกมา

ปุถุชนทุกคนล้วนหนีไม่พ้นจากความโกรธและความหลง ไม่ว่าจะจากสาเหตุใดสาเหตุ 1 ที่เข้ามากระทบ กระแทก แต่ส่วนใหญ่ก็มีความอดทน อดกลั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออยู่ในที่สาธารณะมีสายตาหลายสายตาจ้องมองอยู่

แล้วเหตุใดจึงเกิดปรากฏการณ์หมอเปรมศักดิ์ จึงเกิดปรากฏการณ์ น็อต อัครณัฐ

ประเมินผ่านหลักการทางจิตวิทยา ประเมินผ่านหลักการทางสังคม สภาพการณ์เหล่านี้เมื่อดำรงอยู่ในบริบทและสภาพแวดล้อมอันเอื้ออำนวย

ก็สามารถ “ปะทุ” และ “ปรากฏ” ขึ้นมาได้

หากมองจากปัจจัยภายในก็ต้องดูสภาพการดำรงอยู่ของผู้ที่กระทำ การเติบใหญ่มาอย่างไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพการณ์ในปัจจุบันขณะว่าเป็นอย่างไร

ขณะเดียวกัน ก็มิอาจปฏิเสธปัจจัยจากภายนอก

ปัจจัย 1 คือ คู่กรณี และปัจจัย 1 คือ บรรยากาศและสภาพทางสังคมโดยรวมดำเนินไปอย่างไร อยู่ในลักษณะอย่างไร

เป็น “ประชาธิปไตย” หรือเป็น “เผด็จการ”

หมายความว่า บรรยากาศและสภาพแห่งการใช้อำนาจโดย “ภาพรวม” ของสังคมดำเนินไปในแบบใด

หากว่าเป็นประชาธิปไตยย่อมคำนึงถึงกฎ ระเบียบ หากว่าเป็นเผด็จการก็จะมีบางคนที่ผูกขาดอำนาจและใช้อำนาจเหนือกว่าคนอื่น ใช้อำนาจไม่บันยะบันยัง

“อำนาจ” ในทางสังคมมีส่วนกำหนดลักษณะของ “ปัจเจก” อย่างสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน