แม้กรณีที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวพาดพิงถึงกรณีการครอบครองนาฬิกาข้อมือจำนวนมากของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

จะได้รับการไกล่เกลี่ยให้เรื่องสงบลงมาในระดับหนึ่งโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้บรรยากาศการทำงานร่วมกันในคณะรัฐบาลดำเนินไปได้ต่อไป

แต่สังคมก็ไม่สมควรจะปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเงียบหายไปจากความสนใจ

ไม่ว่าจะเป็นกรณีการสอบสวนความเป็นมาของนาฬิกาทั้งหมดที่พล.อ.ประวิตรเคยใส่

หรือกรณีที่ ป.ป.ช.เปิดประเด็นใหม่เรื่องการสอบสวนการถือครองหุ้นของนพ.ธีระเกียรติ

เพราะเมื่อรัฐบาลนี้เข้าสู่ตำแหน่งด้วยการประกาศตัวว่า จะเข้ามากวาดล้างทุจริตและการประพฤติมิชอบทั้งหลายที่นักการเมืองเคยทำไว้

ตัวผู้จะเข้ามาปัดกวาดเช็ดถูก็ควรจะสะอาดผ่องใสกาววาว และมีพฤติกรรมโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ และไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

ทั้งนี้ไม่เพียงเพื่อผดุงความน่าเชื่อถือและสถานภาพของรัฐมนตรีผู้ที่ถูกตรวจสอบ ไปจนกระทั่งถึงรัฐบาลเอาไว้เท่านั้น

แต่ยังเพื่อรักษาศักดิ์ศรีเกียรติภูมิขององค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบทุจริตทั้งหลายเอาไว้ด้วย

ที่ผ่านมา องค์กรตรวจสอบทุจริตทั้งหลายถูกสังคมตั้งคำถามเอากับวิธีการทำงานว่าดำเนินการไปในลักษณะ “สองมาตรฐาน” คือเลือกใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ในขณะที่ผ่อนปรนให้บุคคลหรือกลุ่มคนที่เป็นพวกพ้องหรือไม่

นี่ย่อมเป็นโอกาสอันดีที่จะได้พิสูจน์เกียรติยศความน่าเชื่อถือขององค์กร ขณะเดียวกันก็จะเป็นการเรียกศรัทธาจากสังคมส่วนรวมให้กลับคืนมา ว่าในสังคมนี้ยังมีหลักยึดในเรื่องของความยุติธรรมความเที่ยงธรรมได้

แต่หากการณ์ดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม ไม่เพียงแต่รัฐบาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องเท่านั้นจะเสียหาย

สังคมก็จะเสื่อมทรุดลงอย่างน่าวิตก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน