เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ตามที่ข่าวปรากฏตามสื่อ กรอบ TOR หาเอกชนร่วมทุนตามระบบ PPP ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา พอสรุปได้ ดังนี้

1. ทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 226 กิโลเมตร ประกอบด้วย 9 สถานี ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา

2. รัฐบาลสนับสนุนเงินลงทุนด้านโยธา 1.2 แสนล้านบาท และเงินค่าเวนคืนที่ดิน 3,787 ล้านบาท

3. ผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ร่วมทุน ได้สิทธิพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ 2 แปลง มักกะสัน 140 ไร่ ศรีราชา 30 ไร่ และยังมีพื้นที่แปลงอื่นๆ ที่ต่อเนื่อง

4. ผู้ได้รับการคัดเลือกได้รับสิทธิพัฒนาพื้นที่รอบสถานี 9 สถานี ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา

5. ผู้ได้รับการคัดเลือกได้สิทธิการเดินรถและพัฒนาพื้นที่ 8 สถานี ที่เป็นสถานีจอดรถเดิมของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ พญาไท ราชปรารภ มักกะสัน คลองตัน หัวหมาก บ้านทับช้าง ลาดกระบัง สุวรรณภูมิ

6. ผู้ได้รับการคัดเลือกได้สิทธิการบริหารและการเดินรถไฟความเร็วสูงสถานีดอนเมืองถึงสถานีอู่ตะเภา

7. ผู้ได้รับการคัดเลือกได้สิทธิการบริหารและการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ขนส่งผู้โดยสารเชื่อมระหว่างสถานี (City Line) สถานีพญาไทถึงสถานีสุวรรณภูมิ

และต่อมามีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 ที่ประชุมเห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา พอสรุปได้ดังนี้

1. ให้ใช้ระบบร่วมทุน PPP Net Cost (Public Private Partnership PPP) โดยรัฐร่วมทุนเอกชน เป็นเวลา 50 ปี

2. ภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,570.29 ล้านบาท ให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินให้การรถไฟฯ (ข้อนี้เป็นการให้เปล่าหรือเพิ่มหนี้ให้การรถไฟ)

3. เอกชนลงทุนงานด้านโยธา งานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า ค่าพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟฟ้าและบริการผู้โดยสาร งานบริหารและซ่อมบำรุงโครงการ

4. รัฐอนุมัติกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนวงเงินไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท ที่เป็นมูลค่าปัจจุบัน (ข้อสังเกตขอขยายความในข้อ 3. ที่ว่าเอกชนลงทุนต่างๆ จึงไม่ชัดเจน เงินที่รัฐร่วม ทุนก็คือเงินส่วนนี้ จึงมิใช่เอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียวตามข้อ 3)

5. เงินที่รัฐร่วมทุนในข้อ 4 จำนวนเงิน 119,425.75 ล้านบาท ให้เอกชนออกไปก่อน รัฐจะทยอยจ่ายคืนให้ภายหลังจากที่เริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงทั้งระบบแล้วและแบ่งจ่ายเป็นรายปี ระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี (ข้อสังเกต ทำไม รัฐต้องทยอยคืนภายหลัง)

6. รัฐรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์จำนวน 22,558.06 ล้านบาท (ข้อสังเกต แสดงว่าบริษัทร่วมทุนที่ได้สวมสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ทั้งระบบ ไม่ต้องรับภาระหนี้ รัฐรับภาระเอง)

7. ได้สิทธิบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สนับสนุนโครงการเดินรถไฟฟ้าความเร็วสูง ประกอบด้วยที่ดินมักกะสันประมาณ 150 ไร่ และที่ดินศรีราชาประมาณ 25 ไร่

จากข้อสรุปกรอบ TOR ที่การรถไฟฯ ให้ข่าวกับสื่อมวลชนกับมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีเนื้อหาสาระใกล้เคียงกัน แต่จากมติคณะรัฐมนตรีมีกรอบไว้ชัดเจนในหลายเรื่อง แต่ที่ไม่ชัดเจนและเป็นผลประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งรายได้เหล่านี้สามารถทำโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินโดย ไม่ต้องใช้เงินเอกชนร่วมทุนก็ได้ ดังนี้

1. ใน TOR ตามข่าว เอกชนได้สิทธิพัฒนาพื้นที่รอบสถานี 9 สถานี ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทยา และอู่ตะเภา

2. ใน TOR ตามข่าว และมติคณะรัฐมนตรี ได้สิทธิพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ มักกะสัน 140-150 ไร่ ที่ศรีราชา 25-30 ไร่ ซึ่งล้วนแต่เป็นแหล่งทำเลทองสำหรับนักลงทุน

3. ใน TOR ตามข่าว ได้สิทธิพัฒนาพื้นที่จอดรถ 8 สถานี ที่เป็นสถานีจอดรถเดิมของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ พญาไท ราชปรารภ มักกะสัน คลองตัน หัวหมาก บ้านทับช้าง ลาดกระบัง สุวรรณภูมิ

4. ได้สิทธิบริหารกิจการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ทั้งระบบ รวมอยู่ในสัมปทาน โดยไม่ต้องรับภาระหนี้

เฉพาะการเอาที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้างและกิจการที่มีอยู่แล้วมีมูลค่ามหาศาล ดังจะเห็นได้ข้อ 1+2+3+4 ถ้าเราเอามูลค่าของที่มีอยู่ 1+2+3 เพียงพอที่จะนำมาลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงพาดผ่านตั้งแต่สถานีดอนเมือง-สถานีอู่ตะเภา ระยะความยาวประมาณ 226 กิโลเมตร ในเมื่อที่ดินมีมูลค่าจำนวนมาก ทำไมไม่ประเมินเป็นตัวเงินร่วมลงทุน แต่โครงการนี้ไม่คิดเป็นเงินลงทุนในเมื่อเป็นการร่วมทุน จึงเป็นกิจการใหม่ เป็นนิติบุคคลใหม่ ทรัพย์สินแบ่งแยกชัดเจน ทำให้การรถไฟฯ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของการรถไฟฯ อีก 50 ปี หรือมากกว่า

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากกรอบ TOR และจากมติคณะรัฐมนตรี มีความไม่ชัดเจนหลายเรื่องหลายกรณีดังที่กล่าวมา ทำไมรัฐถึงต้องทุ่มเทงบประมาณ รายได้ และทรัพย์สิน มูลค่ามหาศาลเพื่อโครงการนี้ แต่ยังไม่สามารถชี้แจงอธิบายกับสาธารณชนได้ ประเทศชาติและประชาชนได้อะไร

ดังนั้น เพื่อความชัดเจนร่าง TOR ที่ก่อภาระผูกพันกับ คู่สัญญา และนำร่างที่ผ่านความเห็นชอบเปิดให้สาธารณชนแสดงความคิดเห็น ก่อนประกาศให้เอกชนผู้สนใจเสนอขอร่วมทุน เพื่อให้การบริหารงานเกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้และประชาชนมีส่วนร่วม

ประชาคมคัดค้านการให้เช่าที่ดินรถไฟมักกะสัน (ปค.มส.)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน