ต้องช่วยผู้ประกอบการรถโดยสาร / เลี้ยงหมูต้นทุนเพิ่มตัวละ100 : คอลัมน์ บก.ตอบจดหมาย

 

ต้องช่วยผู้ประกอบการรถโดยสาร – เรียน บ.ก.
คอลัมน์ บก.ตอบจดหมาย – ปัญหาเรื่องรถโดยสารจัดที่นั่งติดกันเต็มคันนั้น โดยเฉพาะรถโดยสารสายยาว ในช่วงวิกฤตโควิดอย่างนี้ เห็นใจผู้โดยสารที่ต้องนั่งเบาะใกล้กัน ระยะการเดินทางที่ใช้เวลาเกินกว่า 1 ชั่วโมงก็ถือว่าอันตรายถ้าผู้นั่งใกล้เป็นผู้เสี่ยง แล้วก็เห็นใจ ผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน

ถ้ามีการเว้นระยะเบาะที่นั่งก็จะทำให้ผู้โดยสารลดลงไปครึ่งหนึ่ง รายได้หายไปครึ่ง แต่ต้นทุนเท่าเดิม เห็นใจทั้งสองฝ่ายผู้ให้บริการและผู้บริการ หน่วยงานที่ดูแล เช่น ขนส่งหรือกระทรวงคมนาคม น่าจะมีมาตรการผ่อนปรนเจ้าของกิจการรถโดยสาร ควรพิจารณาลดหย่อนภาษีรถยนต์ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตต่างๆ หรืออย่างอื่นๆ อีกมากมายที่ช่วยลดภาระเจ้าของกิจการรถโดยสาร แม้ว่าจะทำให้เงินเข้ารัฐ ลดลง แต่ความปลอดภัยจะเพิ่มขึ้น

ด้วยความเคารพ
เด่น

ตอบ คุณเด่น
น่าสนใจมาก ต้องดูแลทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

เลี้ยงหมูต้นทุนเพิ่มตัวละ100

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด
จากปัญหาอากาศร้อนและภัยแล้ง จนถึงอากาศแปรปรวน บางพื้นที่ร้อนอบอ้าวถึงมีฝนตก ทำให้สัตว์ปรับสภาพร่างกายไม่ทัน เกิดความเครียด กินอาหารน้อยลง ร่างกายอ่อนแอและอาจเจ็บป่วยง่ายขึ้น การเติบโตช้าลง พบว่าอัตราการสูญเสียในฟาร์มเพิ่มขึ้นเป็น 10% ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรต่างพยายามป้องกันโรคแอฟริกัน หรือ ASF ในสุกร เพื่อไม่ให้โรคนี้เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทยได้ ทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวที่ปลอดโรคนี้ แม้ว่าเกษตรกรต้องมีต้นทุนเพิ่ม แต่ก็ยินดีปฏิบัติตามมาตรฐานการเลี้ยงและการป้องกันโรคที่ภาครัฐแนะนำ พบว่าภาระค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันโรคเพิ่มขึ้น อีกกว่า 100 บาท ทั้งจากการใช้ยาฆ่าเชื้อพ่นป้องกันทุกวัน วันละ 2 ครั้ง และค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงาน
ปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมายังกระทบกับเกษตรกร ต้องซื้อน้ำจากภายนอกมาใช้ในฟาร์มทุกวัน มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก 2-3% หากเดือนมิถุนายนนี้ ยังไม่มีฝนใหญ่เข้ามาเกษตรกรต้องทุกข์กันหมด ยังมีค่าไฟเพิ่มเพราะต้องเปิดพัดลมระบายอากาศและเดินระบบอีแวปตลอดเวลา และยังต้องแบกรับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาแพงที่ถือว่าเป็นภาระหนักมากสำหรับคนเลี้ยง ปัจจุบันวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับราคาสูงขึ้นเป็นอย่างมาก อาทิ ปลายข้าวราคาสูงกว่า 12 บาทต่อกิโลกรัม และรำข้าวราคา 10-11 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตปัจจุบัน 65-67 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายหมูเป็นหน้าฟาร์มประมาณ 66-71 บาทต่อกิโลกรัม

จากปัญหาหมูล้นตลาด หรือ Over Supply ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีเกษตรกรรายย่อยหายไปจากระบบมากกว่า 50% อย่างไรก็ตามเกษตรกรทั้งประเทศยังร่วมกันบริหารจัดการทั้งระบบ เพื่อให้ไทยยังคงมีประชากรหมูเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ ส่วนภาวะราคาที่ปรับขึ้นลงก็เป็นไปตามกลไกตลาดในแต่ละช่วงเวลา ขณะเดียวกันขอฝากภาครัฐ ช่วยผลักดัน เรื่องการส่งออกหมูสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังคงมีความต้องการนำเข้าจากประเทศไทยอยู่มาก จากความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพมาตรฐานปลอดโรค ASF และมาตรฐานการผลิตของไทย ที่ปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยได้หันมาปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP ของกรมปศุสัตว์ ถือเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมหมูไทย

ขอแสดงความนับถือ
นายเสน่ห์ นัยเนตร
ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์การปศุสัตว์ภาคตะวันออก

ตอบ คุณเสน่ห์
เป็นการอธิบายปัญหาได้อย่างครบถ้วน ภาครัฐโปรดรับฟังเพื่อนำไปช่วยแก้ไขและพัฒนา ให้อุตสาหกรรมหมูไทยอยู่ได้และพัฒนาต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน