คอลัมน์ บก.ตอบจดหมาย

ค้านสะพานคนเดินข้ามเจ้าพระยา

เรียน บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ตามที่กรุงเทพมหานครมีโครงการก่อสร้างสะพานคนเดินและจักรยานข้ามแม่น้ำฯ ระหว่างท่าพระจันทร์-ศิริราช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสะพานสำหรับคนเดิน ทางจักรยาน ทางผู้พิการและเป็นสวนสาธารณะเป็นแหล่งพักผ่อน ออกกำลังกาย ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ โดยมุ่งหมายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพ มหานคร

เนื่องด้วยข้าพเจ้าเป็นผู้อยู่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เล็งเห็นว่าบริเวณริมฝั่งแม่น้ำระหว่างท่าพระจันทร์-ศิริราชเป็นแหล่งอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย และเป็นแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยก่อน จึงไม่เหมาะสมที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างหรือวัตถุใดๆ ลงในแม่น้ำ ดังนั้นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นไปในแนวทางของการอนุรักษ์ ทั้งยังเป็นการทำลายและบดบังทัศนียภาพของเกาะรัตนโกสินทร์

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างสะพานดังกล่าวยังใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงถึง 2,000 ล้านบาท ข้าพเจ้าจึงตั้งข้อสังเกตถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจว่า ผลประโยชน์ที่ได้รับนั้น คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่สูญไปหรือไม่ และแท้ที่จริงแล้วผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนหรือกลุ่มบุคคลใด และหากในอนาคตโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการ ก็ย่อมจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นไปเกี่ยวกับการใช้สะพาน หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้ จึงเป็นกรณีสุ่มเสี่ยงที่ในอนาคตสะพานดังกล่าวอาจถูกนำมาอ้างเพื่อนำพื้นที่มาสร้างในเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่งทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างที่เน้นเพื่อประโยชน์สาธารณะตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร อันทำให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์มีเพียงแค่เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น

ข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนหนึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านในฐานะสื่อมวลชนหลักของประเทศ และเป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนเสมอมาจะเห็นถึงความสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ส่วนรวม ทั้งจะได้ตรวจสอบความเป็นมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนร่วมกับภาคประชาชนอย่างละเอียดในส่วนอื่นๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

ประชาชนคนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ตอบ ประชาชนคนริมฝั่งเจ้าพระยา

โครงการนี้มีเสียงคัดค้านอื้ออึง จนชักไม่แน่แล้วว่าจะสามารถดำเนินโครงการได้จริงหรือไม่ แต่สำนักการโยธากทม. ซึ่งเป็นแม่งาน ยืนยันว่ามีประชาชนเห็นด้วยจำนวนมาก หวังว่าผู้รับผิดชอบจะชี้แจงข้อสงสัยของคุณได้

ต้องแก๊สน้ำตาไม่ใช่กระสุนจริง

เรียน บ.ก.ข่าวสด

เห็นด้วยว่า ผลคำพิพากษาของศาล ยกฟ้องผู้นำรัฐบาลและผู้นำตำรวจ ในคดี 7 ตุลาคม 2551 จะทำให้แนวทางปฏิบัติของตำรวจปราบจลาจลและใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา จะใช้ได้ต่อไปในการสลายม็อบ ซึ่งดีกว่าจะปล่อยให้เป็นเหมือนรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่มีข้ออ้างผู้ก่อการร้ายแต่ไม่มี หลักฐานที่หนักแน่น แล้วใช้ทหารกับกระสุนจริง ตายไป 99 ศพ อย่างหลังนี้ต้องสอบสวนให้ชัดและไม่ให้เป็นมาตรการที่นำมาใช้ได้อีก

ด้วยความนับถือ

ชัย

ตอบ คุณชัย

ควรจะเป็นเช่นนั้น เป็นหลักสากลที่ปฏิบัติกันทั่วโลก คือ สลายการชุมนุมต้องใช้ตำรวจปราบจลาจลและแก๊สน้ำตา ดังนั้นคดีสลายม็อบปี 2553 ที่ใช้ทหารและกระสุนจริง จึงควรมีการดำเนินคดีเพื่อหาความถูกต้อง และไม่ควรนำมาเป็นหลักปฏิบัติ ลองย้อนไปดูยุครัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เคยมีมติให้เลิกใช้ทหารปราบม็อบ ให้ใช้แต่ตำรวจปราบจลาจลเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน