คอลัมน์ บก.ตอบจดหมาย

กรมชลฯชี้แจงน้ำท่วมสกลนคร

เรื่อง ชี้แจงข่าวเรื่องจี้ปลด รมว.เกษตร-อธิบดีกรมชล อ้าง บิดเบือนข้อมูลน้ำท่วมสกลนคร-ชี้ขัด รธน.

เรียน บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสด

อ้างถึง หนังสือพิมพ์ข่าวสด ประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2560

ตามที่หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 เสนอข่าวเรื่องจี้ปลด รมว.เกษตร-อธิบดีกรมชล อ้างบิดเบือนข้อมูลน้ำท่วมสกลนคร-ชี้ขัด รธน. สรุปความว่า “นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์ของสมาคมว่า กรณีที่มีพายุเซินกาพาดผ่านพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือทำให้เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ แต่ปรากฏว่าในพื้นที่จังหวัดสกลนคร โดยเฉพาะพื้นที่เขื่อนห้วยทรายขมิ้น ปล่อยปละละเลยให้มีการกักเก็บน้ำเกินกว่าความจุของเขื่อนจะรองรับได้ ทำให้น้ำล้นคันเขื่อนจนเป็นเหตุให้สันเขื่อนแตกยาวมากกว่า 20 เมตร ทำให้เกิดน้ำทะลักกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตรไหลลงสู่ด้านท้ายของเขื่อนไปท่วมพื้นที่ ก่อให้เกิดความเสียหายจนยากที่จะประเมินได้นั้น

กรมชลประทานขอเรียนว่า ก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูฝน กรมชล ประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบและติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ โดยอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น จังหวัดสกลนคร มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูฝนเพียงร้อยละ 60 หรือประมาณ 1.40 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น จากความจุอ่างเก็บน้ำ 2.40 ล้านลูกบาศก์เมตร และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนโครงการชลประทานสกลนครได้ดำเนินการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตก แต่เนื่องจากมีฝนตกชุกมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นเป็นจำนวนมาก จนทำให้มีน้ำเต็มอ่างเก็บน้ำในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งกรมชลประทานยังคงดำเนินการเร่งระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ ผ่านทางคลองส่งน้ำฝั่งซ้ายและฝั่งขวาซึ่งมีศักยภาพสามารถระบายได้สูงสุดเพียงวันละ 80,000 ลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจากมีปริมาณฝนตกในพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ไม่สามารถระบายน้ำผ่านทางคลองส่งน้ำได้เต็มศักยภาพ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ จึงทำให้เหลือศักยภาพในการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำได้เพียงวันละประมาณ 24,000 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

ต่อมาในช่วงวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 พื้นที่บริเวณดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ตาลัส” ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักอีกครั้ง ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นเพิ่มมากขึ้นแม้ว่าจะมีการพร่องน้ำอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ด้วยศักยภาพของอ่างเก็บน้ำที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กสามารถเก็บกักน้ำได้เพียง 2.40 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงทำให้มีน้ำเต็มอ่างเก็บน้ำอย่างรวดเร็ว ต่อมายังได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุโซนร้อน “เซินกา” ทำให้เกิดฝนตกหนักลงมาซ้ำเติมอีก ซึ่งโครงการชลประทานสกลนครได้ออกประกาศแจ้งเตือนภัยและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 และได้ประสานงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด หลังจากนั้นได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นมา วัดปริมาณฝนสะสมได้มากถึง 245 มิลลิเมตร ในช่วงระยะเวลาเพียง 20 ชั่วโมง จึงทำให้มีน้ำไหลหลากจากตอนบนลงสู่อ่างเก็บน้ำมากถึง 3.75 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงเกิดน้ำเอ่อล้นข้ามทำนบดิน และเกิดการกัดเซาะบริเวณสันเขื่อนขึ้น

กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 5 และโครงการชลประทานสกลนครได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ของกรมชล ประทาน ที่ประจำอยู่ที่อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นว่า จากปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดน้ำไหลล้นสันเขื่อน จากการตรวจสอบในเบื้องต้นด้วยสายตาพบว่ามีการกัดเซาะบริเวณสันเขื่อนลึกประมาณ 4 เมตร กว้าง 20 เมตร จากความยาวสันเขื่อน 1,300 เมตร เมื่อได้รับแจ้งเหตุจึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเขื่อนเดินทางเข้าไปในพื้นที่ แต่เนื่องจากมีน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างจึงไม่สามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่อ่างเก็บน้ำได้ ต่อมาเมื่อระดับน้ำท่วมได้ลดลงสามารถสัญจรได้แล้ว เจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการตรวจสอบความเสียหายอย่างละเอียด พบว่าทำนบดินที่ถูกกัดเซาะมีความเสียหายเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำในอ่างคงเหลืออยู่ในอ่างจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ ภายหลังจากการเกิดเหตุกรมชลประทานได้นำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อมวลชนและช่องทางประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเป็นลำดับตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ จากผลการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเขื่อน พบว่าสามารถรองรับน้ำได้ตามศักยภาพปัจจุบัน พร้อมกันนั้นได้จัดส่งเครื่องจักรเครื่องมือพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปซ่อมแซมจุดที่เสียหายตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2560 โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน

สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นนั้น จะไม่ไหลผ่านลงสู่ตัวเมืองสกลนคร แต่จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือไหลลงสู่คลองน้ำอูน ประมาณร้อยละ 40 และไหลลงสู่หนองหาร ประมาณร้อยละ 60 ซึ่งปริมาณน้ำที่ไหลลงหนองหารไม่ได้ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในตัวเมืองสกลนครโดยตรง แต่จะทำให้ระดับน้ำในหนองหารเพิ่มสูงขึ้น ส่งผล ให้น้ำจากในเขตเทศบาลเมืองสกลนครระบายได้ยากขึ้นเท่านั้น ซึ่งกรมชลประทานติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำรวมจำนวน 26 เครื่อง โดยติดตั้งแล้วเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 จำนวน 4 เครื่องที่ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต จังหวัดนครพนม และจะทยอยติดตั้งอีก 22 เครื่อง เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำจากลำน้ำก่ำระบาย ลงสู่แม่น้ำโขงตามลำดับต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาเผยแพร่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย จะขอบคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล

รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน

อธิบดีกรมชลประทาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน