คอลัมน์ บก.ตอบจดหมาย

เศร้าใจกับรถไฟความเร็วสูง – เรียน บ.ก.

รู้สึกเห็นด้วยอย่างมาก หลังได้อ่านความคิดเห็นของผู้รู้ซึ่งเผยแพร่ในโซเชี่ยลมีเดียที่กล่าวเอาไว้ว่า ยิ่งสร้างถนนเพิ่มมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะถนนสนองตอบกับรถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น แต่รัฐบาลที่ดีต้องทุ่มเทงบประมาณเพื่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะ มากกว่าจะเอางบประมาณมาสร้างถนนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อ่านแล้วใช่เลย เป็นความคิดที่ดีมากๆ อ่านแล้วยิ่งรู้สึกชัดว่า เพราะการสร้างถนนคือการร่ำรวยของเจ้าสัวไม่กี่ตระกูล และทุกวันนี้เรายังไม่ได้เห็นระบบขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดข้ามภาคที่ดีและสมบูรณ์แบบเลย มีรถไฟไทยที่ไม่เคยมีขบวนไหนตรงเวลาแม้แต่ขบวนเดียว เดินทางล่าช้าแบบโรแมนติกมากๆ และไม่สะอาดหอมชื่นใจ นอกนั้นเราก็มีรถทัวร์ที่พอใช้ได้ แต่ก็ไม่สามารถบรรทุกผู้โดยสารเที่ยวละมากมายเท่ากับรถไฟ อาจจะมีเครื่องบินในประเทศที่พอจะเร็วหน่อย แต่ค่าโดยสารก็สูงขึ้นมาด้วย ทั้งหมดนี้ก็ต้องถามว่าการชิงอำนาจการเมืองด้วยการล้มโครงการรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้นคือ ทำลายประโยชน์ของประชาชนไปด้วยอย่างรุนแรงใช่หรือไม่ ไม่เช่นนั้นอีกปีสองปีเราก็มีรถไฟเร็วสูงใช้แล้ว ปีใหม่ สงกรานต์ ไม่ต้องมารถติดกันยาวเหยียดบนท้องถนน เดินทางกลับบ้านกันเป็นวันๆ การไปทำธุระข้ามจังหวัดง่ายขึ้น ไปเช้าเย็นกลับก็ได้ อบอุ่นใจได้อยู่บ้านอยู่กับครอบครัว รวมไปถึงความเจริญทางเศรษฐกิจตามสถานีรถไฟต่างๆ ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ยิ่งช่วยให้ประชากรไม่ต้องอพยพกันมาทำงานแออัดอยู่เฉพาะในกทม. นี่แหละหนอประเทศไทยเรา ผมก็เลยรู้สึกเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จริงๆ ไม่งั้นเราก็คงไม่มีอนาคต ทุกวันนี้เราก็รู้กันดีว่าเป็นรัฐบาลที่สืบทอดมาจากคณะรัฐประหาร มีอดีตนายทหารในกองทัพมาเป็นผู้นำ แล้วจะมีวิสัยทัศน์ มีสายตามุมมองที่กว้างไกลได้อย่างไร คิดทันผู้นำอื่นๆ ในโลกได้อย่างไร ก็เป็นอย่างที่นักวิชาการบอกว่า เราคือรัฐพันลึก การเมืองเราไม่ใช่ประชาธิปไตยเสรีปกติ เมื่อการเมืองไม่ดี เศรษฐกิจก็ไม่ดีไปด้วย การพัฒนาก้าวหน้าก็ไม่สามารถทำได้

นายคนเศร้า

ตอบ นายคนเศร้า

ระบบขนส่งสาธารณะข้ามเมืองที่ดีที่สุดคงไม่พ้นรถไฟความเร็วสูงดังที่คุณกล่าวมา ถ้ารัฐบาลมีแต่โครงการตัดถนนก็คงไม่สามารถบริการประชาชนในการเดินทางอย่างรวดเร็ว สะดวกสบายได้ถูกจุดอย่างแท้จริง ปีใหม่กำลังจะมาถึงแล้ว ก็ต้องไปรถติดกันกลางท้องถนนกันต่อไป

 

ทำไมต้องงดออกเสียง – ถึง คอลัมน์ บ.ก.ตอบจดหมาย

ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมรวม 7 ฉบับเมื่อ 17-18 พ.ย.ที่ผ่านมา มีทั้งผลลงมติรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องมาขัดใจตรงพวกงดออกเสียง เหมือนกับกั๊กอย่างไรพิกล คือถ้ารับก็รับ ไม่รับก็ไม่รับ ประเภท ‘งดออกเสียง’ ไม่ควรมี ประมาณว่าข้างไหนชนะก็อยู่ ข้างนั้น

นับถือ

บุญทิ้ง

ตอบ บุญทิ้ง

การงดออกเสียงถือว่าเป็นการแสดงออกอย่างไม่ชัดเจนตรงไปตรงมา และอันที่จริงก็มีผลต่อการนับคะแนนเช่นเดียวกันด้วย ทำให้คะแนนโหวตรับลดหายไปด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน