คอลัมน์ บ.ก.ตอบจดหมาย

ค้านการปิดหัวลำโพง – เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด

สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพงเป็นสถานีประวัติศาสตร์ อยู่คู่กับคนไทย การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีดำริจะปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ในเดือนพฤศจิกายน 2564 และยังให้สัมภาษณ์ “รถไฟต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง” เป็นการคิดแทนประชาชน ดูแคลนคนรถไฟ

ทั้งที่การปิดสถานีรถไฟหัวลำโพงไม่มีแผนรองรับที่ชัดเจน โดยอ้างเหตุจากการจะเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ ทำให้ ต้องเปลี่ยนสถานีต้นทางหรือสถานีนอกเมือง ขาดหลักวิชาการ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ทำให้ประชาชน เดือดร้อน โดยประชาชนที่เคยเดินทางโดยรถไฟสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือใช้สถานีรังสิตเป็นสถานีต้นทาง ส่วนทางสายใต้ใช้สถานีตลิ่งชันเป็นสถานีต้นทาง และสายตะวันออกใช้สถานีมักกะสันเป็นสถานีต้นทาง

สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพงมีโครงสร้างด้านเส้นทางการเดินรถที่สำคัญ มีรถโดยสารสาธารณะต้นทางและทางผ่านจำนวนมาก มีการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน ประชาชนเดินทางเข้า-ออกไปทางฝั่งธนบุรีเดินทางไปทิศใต้และตะวันตกได้สะดวกรวดเร็ว และการที่ประชาชนต้องเดินทางหลายต่อกว่าจะถึงจุดหมาย เป็นการเพิ่มเวลาการเดินทาง และเพิ่มค่าโดยสารกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวัน และรถไฟยังเป็นระบบการขนส่งที่ช่วยแก้ปัญหาจราจร

ปัญหาการทำขบวนรถ ตั้งแต่ขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพงจนขบวนรถออก มีขั้นตอนมากมายจนกว่าจะ นำรถแต่ละชนิดออกไปทำขบวน ถ้าเป็นรถจักรจะตรวจซ่อมบำรุงซ่อมเบา (ถ้าซ่อมหนักส่งโรงงานมักกะสัน) เมื่อสภาพพร้อมใช้งาน จะเติมน้ำ เติมน้ำมัน วิ่งเข้าหัวลำโพงเตรียมพร้อมลากจูงทำขบวน ถ้าเป็นรถดีเซลรางและ รถโดยสารเมื่อถึงปลายทางสถานีหัวลำโพง นำรถเข้าโรงรถดีเซลรางกรุงเทพ ตรวจซ่อมบำรุง (ถ้าหนักส่งโรงงานมักกะสัน)

เมื่อสภาพพร้อมใช้งานจะเติมน้ำ เติมน้ำมัน รถดีเซลรางสามารถเคลื่อนที่ด้วยตัวเองจะวิ่งเข้าทำขบวน ส่วนตู้รถโดยสารนำออกไปรอในย่านเพื่อสับเปลี่ยนจัดเป็นขบวนรถในแต่ละสายเดินทาง โดยเจ้าหน้าที่จะเอารถสับเปลี่ยนมาต่อทำขบวน (พนักงานที่ทำหน้าที่สับเปลี่ยนทำขบวนต้องมีความสามารถเฉพาะทางอย่างยิ่ง ต้องเรียนรู้ยาวนาน)

มีความสำคัญอย่างยิ่งถ้าเปลี่ยนสถานีต้นทางเป็นสถานีต้นทาง รังสิต ตลิ่งชัน มักกะสัน มีความจำเป็นต่อการทำขบวนรถความปลอดภัยของประชาชน จะต้องสร้างโรงรถซ่อมบำรุง (ซ่อมเบา) ขึ้นมาอีก 3 แห่ง แทนโรงรถจักรบางซื่อและโรงรถดีเซลรางกรุงเทพ เพื่อตรวจซ่อมบำรุงเติมน้ำเติมน้ำมันให้รถชนิดต่างๆ อยู่ในสภาพพร้อมออกทำขบวน และสิ่งหนึ่งที่สำคัญต้องมีพื้นที่ทำย่านวางพวงรางและวางรางจำนวนมากในแต่สถานีใหม่ เพื่อทำสับเปลี่ยนนำรถชนิดต่างๆ เข้าทำขบวน เป็นการทำงานที่ใช้บุคลากรที่มีความชำนาญงานเฉพาะด้าน ต้องสั่งสมประสบการณ์มายาวนาน มิใช่จะนำใครมาทำก็ได้ ผู้บริหารทุกระดับชั้น

แม้กระทั่งข้าราชการการเมือง ก็ไม่สามารถเข้าใจในระบบการทำงานของพนังงานการรถไฟ และยังมีผลกระทบเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายมิติ ด้วยเหตุดังกล่าว การปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) และย้ายสถานีรถไฟต้นทางไปอยู่นอกเมืองและเหตุผลอื่นๆ อีกหลายประการ ดังนั้นการปิดหัวลำโพงทำให้ประชาชนเดือดร้อนประเทศชาติเสียประโยชน์ การรถไฟฯ ต้องเสียงบประมาณอีกจำนวนมาก ประชาชนและพนักงานการ รถไฟฯ คัดค้านการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง
ประชาคมคัดค้านการให้เช่าที่ดินรถไฟมักกะสัน (ปค.มส.)

ตอบ

เป็นข้อคัดค้าน ที่คมนาคมและการรถไฟฯควรมีคำตอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน